วันพฤหัสบดีที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

แทร็ก 2/10



พระอาจารย์
2/10 (530807A)
7 สิงหาคม 2553


พระอาจารย์ –  ... การปฏิบัติมันต้องถามตัวเอง ถามตัวเองว่าได้ผลรึเปล่า  ถ้ามันจะไปฟังเอาความเห็นของคนอื่นมาเป็นตัวตัดสินนี่ ถ้ายังไม่มั่นคงจริง มันก็ลังเลสงสัย ไม่เกิดความไว้วางใจ นี่ มันจะได้ผลอะไร 

มันไม่ทันอาการจิตที่ส่งออกไป แล้วก็ไปสร้างทิฏฐิความเห็นขึ้นมา เกิดความลังเลสงสัย ...ความลังเลสงสัยนี่มันก็ทำให้เกิดการไขว่คว้าหา เอาให้ถูก ที่ถูกที่สุด ...ยิ่งคิดก็ยิ่งไปเรื่อยเปื่อย  ธรรมะมันก็เลยเกิดการเปรียบเทียบ เป็นธรรมะเปรียบเทียบ

โอ้ย อย่าว่าแต่สมัยนี้เลย สมัยพุทธกาลท่านก็มีสำนักหลายสำนักด้วย  พระอสีติแต่ละองค์นี่ ท่านสอนคนละแบบนะ พระอนุรุธก็สอนอย่าง พระโมคคัลลาน์ ก็สอนอย่าง พระสารีบุตรก็สอนอย่าง 

แต่ก่อนเวลา....(ชื่อพราหมณ์) ไปขอบวชตามสำนักต่างๆ ไม่มีใครเขารับ จนพระสารีบุตรมารับเป็นคนสุดท้าย พระสารีบุตรรับหมด ...พระสารีบุตรนี่เป็นอัครสาวกเบื้องขวาด้านปัญญา 

ตัวท่านเองไม่เรียบร้อยเลย นุ่งห่มผ้านี่รุ่ยๆ ร่ายๆ เณรนี่ต้องคอยมาจับมาแต่งจีวรให้อยู่เรื่อย อยู่คนเดียวก็กระโดกกระเดก ท่านไม่สำรวมเลยแหละพระสารีบุตรน่ะ ...เนี่ย ด้านปัญญาเป็นอย่างนั้น 

ถ้าไปจับผิด ...ก็ต้องไปไล่ตั้งแต่พระสารีบุตรมา (หัวเราะ)


โยม –  ยังไม่เคยได้ยินเรื่องอย่างนี้เจ้าค่ะ

พระอาจารย์ –  ไปอ่านดู มี ในพระไตรปิฎก กริยาเป็นลิงเป็นค่าง กระโดด เกายุกยิกๆ อยู่ตลอดเวลา

โยม –  เคยได้ยินว่าท่านกระโดด

พระอาจารย์ –  กระโดดด้วย แล้วก็ยุกยิก อยู่ไม่สุข ทำอะไรไม่ค่อยสำรวม  นั่นน่ะอากัปกริยาของพระสารีบุตร ...ถ้าเป็นพวกจับผิดพระไปเจอพระสารีบุตรก็ไปตำหนิท่านอีก (หัวเราะกัน) 

คือไปยึดที่เป็นปัจเจกบุคคลน่ะ ไม่ได้ยึดเอาธรรม เนื้อธรรม อรรถธรรม ...ใครจะสำเร็จ ใครจะถึงขั้นไหนไม่สำคัญ ... สำคัญอยู่ที่เนื้อธรรม ข้อความในธรรมนั้น แล้วเอาไปปฏิบัติให้ได้ผล 

คนสอนนี่จะอยู่ขั้นไหนไม่สำคัญน่ะ ...ในสมัยก่อนนี่ มีพระไปอยู่ในป่า ไปบำเพ็ญภาวนา  แล้วก็มีโยมผู้หญิงอุปัฏฐาก เอาอาหารมาถวายทุกวัน ... ท่านก็สอนธรรมะให้  โยมก็เอาไปปฏิบัติ 

สอนให้ปฏิบัติ โยมก็ปฏิบัติไป ... ปฏิบัติไปปฏิบัติมา โยมอุปัฏฐากนั่นสำเร็จอรหันต์ก่อน ...ปฏิบัติยังไง อาจารย์ยังไม่สำเร็จเลย ลูกศิษย์สำเร็จอรหันต์พร้อมอภิญญา ๘ มีเจโตปริยญาณ สำเร็จเสร็จสรรพพร้อม 

สำเร็จเสร็จมาดูอาจารย์...อาจารย์ติดอะไรอยู่ ทำไมถึงไม่สำเร็จสักที ... ท่านรู้นะ ท่านกลับไปส่องดูอาจารย์ ว่าติดขัดข้องที่ไหน ก็ไปเห็นว่าขัดข้องที่อาหารไม่สัปปายะ ไม่ถูกธาตุ ทำให้จิตไม่สะดวก ไม่สมดุล ไม่เป็นกลาง

เพิ่นก็เลยไปปวารณา...อาจารย์อยากกินอะไร กินอะไรไม่สบายท้องยังไง ให้บอก โยมขอปวารณาจัดถวายให้ แล้วก็คอยดูแลเรื่องอาหารให้ ...ท่านก็ยังฟังเทศน์ เคารพอาจารย์ เหมือนเดิม 

นั่นพระอรหันต์นะนั่น ผู้หญิงด้วย ...ก็อุปัฏฐากไปเรื่อยๆ จนอาจารย์น่ะสำเร็จพระอรหันต์ ...นั่นน่ะ ในพุทธกาลท่านก็มี ท่านไม่ได้มาเอารังเกียจรังงอนอะไรกัน 

เอาธรรมเป็นหลัก เอาธรรมเป็นธรรมาธิปไตย ...ไม่ใช่อัตตาธิปไตย หรือว่าปัจเจกธิปไตย หรือว่าเอาคนใดคนหนึ่งมาเป็นที่พึ่ง หรือว่าเป็นแม่แบบอะไรอย่างนั้น

ธรรมเป็นแม่แบบ เป็นไปเพื่อความปล่อยวางและจางคลาย...ไม่ใช่ปฏิบัติเพื่อความยึดมั่นถือมั่น ...สังเกตดู การปฏิบัติมันเป็นไปเพื่อความยึดมั่นถือมั่นหรือเปล่า หรือว่าเป็นไปเพื่อความปล่อยวาง 

เพราะนั้น ใครจะว่ายังไง ใครจะมีความเห็นยังไง ได้อะไร ไม่ได้อะไร  เรารู้เราก็ละ เรารู้เราก็วาง ...วางหมดน่ะ ความเห็นของคนอื่นก็วาง ความเห็นของเราเองก็วาง 

อย่าว่าแต่วางความเห็นคนอื่นเลย ความคิดความเห็นของตัวเองด้วย ... ก็รู้เท่าทันอาการต่างๆ นานา มันเป็นแค่ภาพ เป็นแค่มายาเท่านั้นเอง  ความคิด...เป็นจิตหลอนน่ะ เป็นสังขารจิต 

ก็ให้รู้ทันความคิดแล้วก็วางความคิดซะ วางความเห็น วางอารมณ์ วางความคิดที่ไปเปรียบอันนั้นอันนี้ ...กลับมาดูปัจจุบัน รู้ปัจจุบัน เห็นปัจจุบัน ละปัจจุบัน อยู่ตลอดเวลา แค่นี้ ...มันไม่มีอะไรมากกว่านี้หรอก 

ธรรมน่ะ...ใครจะพูดยังไงก็ได้ สาธยายธรรมยังไงก็ได้ จะพูดละเอียดลออ ดูให้ประณีต ดูให้ซับซ้อนซ่อนเงื่อนขนาดไหน เอาจากคำนั้นคำนี้มา ...แต่สุดท้ายมันรวมแค่ที่...รู้ปัจจุบันแล้วก็ละปัจจุบันได้ แค่นั้นเอง 

อย่าออกนอกปัจจุบัน แค่เนี้ย ตรงนี้สุดแล้ว ...จะนั่ง จะนอน จะยืน จะอยู่ท่าไหน จะถืออะไร จะไม่ถืออะไร จะวางตัวอย่างไหน จะมีอะไร ทำอะไร อยู่ในเพศไหน  อยู่คนเดียว อยู่หลายคน มีลูกมีเมีย ทำไปเหอะ 

ขอให้รู้ในหลักว่าอยู่ในปัจจุบันแล้วก็ละปัจจุบัน แล้วก็ผ่านไป แล้วก็ไม่เก็บอะไรไว้ภายใน ...หูได้ยินอะไร รู้แล้วก็วาง ตาเห็นรูปอะไร เห็นแล้วก็วาง ความคิดอะไรขึ้นมา เห็นแล้วก็วาง รู้แล้วก็วาง 

วางไม่ได้ก็รู้ว่ายังวางไม่ได้ ...ก็ตามธรรมของตัวเองน่ะ  มันยังติดก็รู้ว่ามันยังติด ไม่ต้องไปเดือดร้อนหาถูกหาผิด ว่าทำไมยังติด ทำไมวางไม่ได้ ทำไมซ้ำซาก ...แล้วก็ฟุ้งซ่านอีกแล้วๆ

จะไปฟุ้งทำไม จะไปหาอะไร ...ก็เป็นยังไงก็เป็นอย่างงั้น มันไม่ผิดมันไม่ถูกหรอก  

การเจริญสตินี่ สตินี่มีหน้าที่อย่างเดียวคือเป็นผู้สังเกตการณ์...ให้เห็นปฏิกิริยาอาการ ดูอาการ เห็นอาการทางกายของเราเป็นอย่างไรในปัจจุบัน อาการของจิตเป็นอย่างไรในปัจจุบัน 

ไม่ติดก็รู้ว่าไม่ติด ติดก็รู้ว่าติด ...รู้ไปแค่นี้พอแล้ว ไม่ต้องไปฉลาดเกินนั้นหรอก  ฉลาดคิด ฉลาดจำ รู้คิดรู้จำ แต่ไม่รู้จริง ...มันต่างกัน

ไอ้รู้ไปกับความคิด รู้ไปกับความจำนี่ ชอบกันจัง ...แล้วก็เอาไอ้รู้จำกับรู้คิดน่ะมาเถียงกัน ... เอาเข้าจริงๆ นี่ ไม่มีใครรู้จริงเลย 

ถ้ารู้จริงนี่ไม่มาพูดหรอก ถ้ารู้จริงน่ะเฉย ถ้ารู้จริงแล้วไม่มีอะไร ...ก็แค่รู้ตรงนี้ นั่งอยู่ก็รู้ ยืนอยู่ก็รู้ คิดอยู่ก็รู้ จะพูดก็รู้ จะมีความเห็น จะเถียงเขาก็รู้ ...รู้แล้วนี่มันดับหมดแหละ มันไม่ไปไหนหรอกถ้ารู้จริงอ่ะนะ

มันรู้ไม่จริง ...ไอ้รู้ไม่จริงนี่ก็...ปากเหมือนกับหม้อน้ำร้อนเดือดน่ะ ก็พ่นๆๆๆ อะไรออกมา  ใจก็เหมือนกับเตาเผาน่ะ เผารนออกมา ดีดดิ้นออกไป ... มันก็ตามอาการต่างๆ นานาออกไป ด้วยความไม่รู้เท่าทัน 

ถ้าเท่าทันแล้วมันก็ดับอยู่ตรงนั้น ตรงที่รู้น่ะแหละ รู้ตรงไหนมันก็ดับตรงนั้นแหละ

เพราะนั้นถึงดับไม่ได้ ละไม่ได้ ก็รู้เข้าไว้  อะไรเกิดขึ้นก็รู้ๆๆ ตั้งอยู่ก็รู้  ไม่ดับไปก็รู้ มากขึ้นก็รู้ น้อยลงก็รู้ ...คือกลับมาอยู่ในฐานรู้อยู่เสมอ ...ใครจะว่าถูก ใครจะว่าผิด ก็ช่างหัวมัน ไม่เกี่ยวอะไร 

ครูบาอาจารย์ก็แค่บอกแค่สอน คำพูดก็คือคำพูด ตัวของใครก็ตัวของมัน ...การปฏิบัติมันเป็นเรื่องของตัวเอง ไม่ใช่เอาคนอื่นมาเป็นมาตรฐานหรือว่ามาเป็นกฎหมายประจำ

หลวงปู่ท่านพูดบ่อย เอาเยี่ยงพระพุทธเจ้า แต่ไม่เอาอย่าง ...ให้เอาเยี่ยง แต่อย่าเอาอย่าง คือให้ใช้ปัญญา ไม่ใช่ตามกันทุกกระเบียดนิ้ว ...อย่างสมัยหลวงปู่ท่าน นานแล้ว...มีพระบวชใหม่มาตอนนั้น  พระก็มาถามว่า 

“หลวงปู่ ผมอยากทราบว่าหลวงปู่นี่ ตอนสมัยหนุ่มๆ ภาวนายังไง  หลวงปู่กำหนดอะไรเป็นคำภาวนา แล้วก็พิจารณาอะไรเป็นหลัก  แล้วก็วันนึงๆ เดินจงกรม นั่งสมาธิ กี่ชั่วโมง”  นี่ ถามท่านอย่างนี้ 

หลวงปู่ท่านตอบมาตรงนั้นเลยว่า “ท่านนี่ท่าจะบ้า  การภาวนาท่านก็บอกแล้วว่าภาวนาเป็นเรื่องของใครของมัน จะมาตามกันทุกกระเบียดนิ้วหรือว่าทุกวิธีการนี่ไม่ได้  ทำอย่างนั้นก็เป็นบ้ากันหมดแล้ว” 

ท่านว่าอย่างนี้ ท่านว่าตรงๆ เลยนะ ...เนี่ย ครูบาอาจารย์ที่เปิดกว้างหรือว่าสอนทางปัญญาด้วยพร้อมกับสมถะด้วยนี่ ท่านจะยอมรับ ...คือวิถีใครวิถีมัน 

ลูกศิษย์หลวงปู่นี่ บอกให้เลยว่าเยอะแยะ แต่ปฏิบัติไม่เหมือนกันเลย  บางคนก็ไปอย่างนึง อีกคนก็ไปอย่างนึง  หลวงปู่ท่านก็ไม่ว่าอะไร ก็แล้วแต่ใครจะชอบอย่างไร

ท่านบอกว่า...น้ำน่ะ ถ้าน้ำบ่อ ถ้าน้ำไหนมันกินแล้วไม่ดี กินแล้วไม่ถูกปาก ก็อย่าไปกิน ไปกินน้ำที่ถูกปากตัวเอง ... แล้วก็ไม่ต้องไปโทษว่าบ่อนั้นไม่ดี บ่อนี้ดีกว่าใคร 

บ่อไหนดีก็กินบ่อนั้นไปสิ มันถูกปากถูกลิ้นก็กินไป น้ำมีตั้งหลายบ่อ  ทำไมจะต้องไปรังเกียจรังงอนแล้วก็บอกว่าบ่อชั้นดีกว่าบ่อคนนั้น มันเป็นเรื่องของรส ของลิ้น ความพอใจของแต่ละคน...นานาจิตตัง

การปฏิบัติ หลักเดียวกัน แต่ว่าหลายแนว ...เป็นธรรมดา  มันไม่ใช่ตายตัวกันไปหมดหรอก คนมันตั้งสี่พันกว่าล้านในโลก...จำเพาะดวงจิตของรูปกายมนุษย์  แล้วกายทิพย์อีกเท่าไหร่ อัปปมาโน นับไม่ถ้วน 

แต่ละคน แต่ละดวงจิต...อุปนิสัย การสร้างสม วิถีแห่งการบำเพ็ญ ไม่เหมือนกันหรอก ...แล้วจะมาเอาบอกว่าวิธีนี้วิธีเดียวเท่านั้น มันกลายเป็นการทำหมันธรรมะของพระพุทธเจ้าไปโดยปริยาย 

ปิดกั้นธรรมะ ไม่เปิดกว้าง ไม่เป็นกลาง ...แค่เนี้ย แค่ไม่เป็นกลางต่อทุกสรรพสิ่งแค่นี้ อย่ามาพูดเลยว่ากูถูกกว่าคนอื่น

ศาสนาจะเสื่อมลงก็เพราะอุบาสก อุบาสิกา ภิกษุ ภิกษุณี นี่แหละ ไม่ได้เสื่อมจากคนอื่นเลย เสื่อมกันเอง ทะเลาะกันเอง มาเปรียบกันเอง เอาแต่ตัวเองดีกว่าคนอื่น แล้วก็ไปทับถมคนอื่น

ครูบาอาจารย์ถ้าอยู่ในหลักจริงๆ น่ะ ท่านจะไม่พลุ่กพล่านอย่างนี้หรอก ท่านจะเป็นกลาง ...สังเกตดูครูบาอาจารย์รุ่นหลวงปู่ดูลย์ หลวงปู่ขาว หลวงปู่แหวนอย่างนี้ 

กว่าจะพูดสักคำนี่แทบจะต้องงัดปากถึงจะพูด เข้าใจมั้ย  ไม่วิพากษ์ไม่วิจารณ์อะไรเลย ไม่มีความเห็นอะไรเลย  พูดออกมาก็ไม่กี่ประโยค...เป็นธรรมล้วนๆ น่ะ  

หรือไม่ส่วนมากท่านก็ให้ศีลให้พร แล้วก็นั่งยิ้ม ไม่พูดอะไร  เทศน์ก็ไม่เทศน์ สอนก็ไม่สอน เนี่ย ครูบาอาจารย์ที่นั่นจริงๆ นี่ ท่านเห็นว่ามันไม่มีสารประโยชน์หรอก ไอ้การที่จะมาพูดเยิ่นเย้อยืดยาว จำแนกเป็นภาษามนุษย์ให้มันมาตีความถกเถียงกันทุกวันนี้ 

ปุถุชน...บอกแล้วว่า เรื่องของจิตเรื่องของใจ เป็นเรื่องของอจินไตย นอกเหตุเหนือผล อย่าเอาคำพูดหรือความคิดความเห็นใดๆ เข้าไปหยั่งหรือว่าไปหาความเป็นจริงในนั้น ฟุ้งซ่านหมดแหละ

ฟังยังไง เข้าใจยังไง ทำไปก่อน ทำไปเถอะ ... มีความเห็นอย่างไร ใครเข้าใจอย่างไร ทำไปเถอะ ทำไปเรื่อยๆ มันมีจุดตายของมันอยู่จุดเดียวน่ะแหละ  อย่ามาคาแค่ความคิดความเห็นแค่เนี้ย แล้วก็เอาความคิดความเห็นไปทาบทับกับความคิดเห็นคนอื่นที่ไม่เหมือนตัวเอง

บอกเลยว่า คนฟังเทศน์หลวงปู่นี่ สิบคนมานั่งฟัง ฟังไม่เหมือนกันหรอก ฟังด้วยกันนี่แหละ ...แม้แต่ญาติโยมที่มาฟังเราอย่างนี้เหมือนกัน ยี่สิบคนมานั่งฟังนี่ แต่ละคนจับคนละประเด็น เข้าใจคนละอย่าง 

มันตามกำลังสติปัญญาของคนนั้นๆ ...ก็ไม่ได้ว่าถูก ก็ไม่ได้ว่าผิด แต่มันเป็นความจริง ...การปฏิบัติธรรมต้องสมควรแก่ธรรมของคนนั้นๆ ...ไม่ใช่เอาธรรมของเราไปปฏิบัติ 

เข้าใจอะไรก็ทำไป แล้วค่อยไต่เต้ามา ทำความรู้ความเข้าใจ ทำความสำเหนียก ทำความแยบคาย ทำความชำนาญ ทำความเห็นแจ้งภายในขึ้นทีละเล็กทีละน้อย 

แล้วมันก็จะค่อยๆ ม้วนตัวกลับเข้ามาที่ต้นเหตุ หรือเหตุที่แท้จริง หรือมหาเหตุ หรือว่าจุดกำเนิด จุดต่อมแรกของการก่อเกิด ของการเกิดขึ้น

ตราบใดที่เรายังเห็นว่า 'เอ๊ะ ครั้งนี้เกิดตรงนี้ ครั้งนี้เกิดตรงนั้น ครั้งนี้ เอ๊ะ ทำไมมันมาเกิดตรงนี้'  อย่างนี้ เข้าใจมั้ย ...คือยังไม่แจ้ง 

ทำไมมันเกิดหลายที่เหลือเกิน ทำไมเดี๋ยวก็เกิดที่หู ทำไมเดี๋ยวก็ไปเกิดที่ตา เดี๋ยวก็มาเกิดที่ใจ เดี๋ยวเกิดภายใน เดี๋ยวมีอารมณ์เกิดจากตรงนั้นเกิดจากตรงนี้ ...เหตุมันหลายเหตุเหลือเกิน ที่ตั้งของเหตุน่ะ ที่ตั้งของอารมณ์ อย่างเนี้ย

นี่ มันก็ค่อยๆ สาวเข้ามาถึงเหตุเดียวกัน...จนกว่าจะมาถึงหลักเดียวกัน ต้นตอเดียวกัน จุดแรกเดียวกัน จุดก่อเกิดของทุกสรรพสิ่งที่ออกมาทั้งหมดนี่ มันออกมาจากที่เดียวกัน...เมื่อไหร่นี่ เมื่อนั้นก็หมดปัญหา 

มันก็เริ่มแจ้งภายใน เมื่อถึงที่เดียว จิตอันเดียว กายอันเดียวเมื่อไหร่ ...กายเดียวใจเดียว เอกังจิตตัง เอโกธัมโม เมื่อไหร่ มันไม่มีปัญหาจะไปทะเลาะกับใครหรอก ...ใครว่าถูกใครว่าผิด ไม่เกี่ยวแล้ว 

มันผิดมันถูกอยู่ตรงนี้ ไอ้ตัวที่ผลักดันออกมาตัวแรก ทั้งหลายทั้งปวงมันออกมาจากจุดเดียวกันนั่นแหละ มันไม่ได้แตกต่างกันเลย ...ใครจะว่าถูกใครจะว่าผิดไม่รู้หรอก แต่ทุกอย่างมันออกมาจากตรงนี้

เมื่อเห็นตรงนั้น อยู่ตรงนั้น  มันเห็นอยู่ทนโท่ มันเห็นอยู่กับตา เหมือนกับตาเห็นว่าเป็นผู้หญิง-ผู้ชายอย่างนี้ ใครจะมาบอกว่ามันไม่เป็น...อย่างนั้นมันก็ไม่เชื่อ ก็มันเห็นอย่างนี้เลย นี่ มันเห็นเอง

มันเห็นตามความเป็นจริง ด้วยญาณทัสสนะ  มันเถียงไม่ได้ มันเป็นปัจจัตตัง ...มันออกมาจากตรงนี้ ต้นตอ ต้นเหตุของสรรพสิ่ง เหตุที่ให้เกิดทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงก็ออกจากตรงนี้ 

เราไม่รู้หรอกว่าเรียกว่าอะไร แล้วไม่ต้องไปรู้ ไม่ต้องไปใส่ชื่อให้มันด้วย ...แต่มันมีจุดเดียว ที่เดียว ในที่อันเดียวนั่นแหละ ออกมาทั้งหมดเลย นั่นแหละคือใจ

ใจ...ความหมายของใจ แปลตรงๆ ก็ใจคือใจ...กลางน่ะ ใจกลาง  นั่นแหละ มันเป็นศูนย์รวมน่ะ มันออกมาจากตรงนั้นที่เดียวนั่นแหละ ...ออกมาทั้งหมด 

ออกมาเป็นความรู้สึกทางตา ทางหู ทางจมูก ทางอารมณ์ ทางผัสสะ ทางเวทนา ทางกาย ...มันออกมานี่ ตัวนี้ตัวเดียวเป็นผู้รับรู้ เป็นต้นตอ เป็นเมน เป็นประธาน เป็นผู้ผลักดันให้ก่อเกิดมากมายก่ายกองออกมา 

นั่นแหละเขาเรียกว่ามหาเหตุ ...ถึงตรงนั้นแล้วไม่ผิดไม่เถียงกับใครแล้ว  มันเถียงกับตัวเองแล้ว มาทะเลาะกับตัวเองแล้ว 'มึงออกมาได้ยังไง มึงออกมาทำไม ทำไมมึงต้องออกมา' อย่างนี้ 

มันก็สาวเข้าไปตรงภายในนั่นแหละ ...ไม่ไปส่ายแส่กับหูได้ยินเสียง ตามองรูปว่าใครจะทำยังไง ใครจะถูกใครจะผิด ไม่สนใจแล้ว ...มันสนใจแต่ตรงนั้น 

'มึงออกมาทำไม มึงยุ่งอะไรนักหนากับรูปกับเสียงนี่ ทำไมมึงจะต้องออกมาอยู่เรื่อย ไม่หยุด ไม่หยุดสักที ทำไมมันไม่หยุดสักทีวะ' ... เนี่ย มันก็ตรวจค้น สอบทานอยู่ภายใน...ล้วนๆ เลย เป็นสติภายในล้วนๆ 

จะสัมมาสติ จะไม่สัมมาสติ จะถูกจะผิด ไม่รู้อ่ะ ...มันเห็นอยู่ตรงนี้ เห็นที่เหตุแรก บางครั้งก็ดับ...บางครั้งก็ไม่ดับๆ ...ไปๆ มาๆ มันเห็นเมื่อไหร่ก็ดับเมื่อนั้นๆ จากการที่ว่าเห็นดับๆ จนมันไม่ค่อยออกมาดับแล้ว ไม่มีอะไรจะออกแล้ว อย่างนี้ 

ก็ดูมันเข้าไป เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น ...แล้วมันก็เข้าใจในการเกิดดับของมัน เท่าทันอยู่ตรงนั้นที่เดียว ตรงไหนไม่รู้ เราก็ไม่บอก ไม่ได้ว่าอยู่ตรงไหน ไม่รู้อ่ะ แต่ละคน ไม่รู้ ...ดูเข้าไปเหอะ แล้วมันก็จะเจอเอง

เหมือนกับแม่น้ำปิงนี่ เคยเห็นมั้ยว่าต้นน้ำปิงมันเป็นยังไง ...มันไม่ใช่หรอกที่เป็นแม่น้ำอย่างนี้ ต้นมันนิดเดียวน่ะ เป็นผุดออกมานิดนึงแค่นั้นเอง ที่ออกมาให้เราได้ใช้ได้กินใช้อาบกันบานอย่างนี้ 

แต่พวกเราไม่เคยสนใจว่าต้นน้ำจริงๆ มันนิดเดียวจริงๆ ....แล้วออกมานี่ไม่รู้เลยว่ามันจะเป็นแม่น้ำได้ยังไงวะเนี่ย  พอไปดูต้นน้ำ เป็นตาน้ำผุดออกมาเป็นแอ่งน้ำซับน้ำซึมแค่นี้ นิดเดียวเอง ...นี่หรือน้ำปิง ต้นตอนี่นิดเดียว

ก็นี่แหละน้ำปิง ...แต่ว่าเอามาใช้กัน เอามาสาดกัน เอามาเล่น เอามาทำร้ายกัน ก็ยังได้ ไอ้น้ำปิงนี่ ...ทั้งที่ต้นตอมันนิดเดียว มันไม่มีอะไรหรอก ...แต่มันเอามาใช้ยังไงนี่สิ 

ถ้ามันมีปัญญาก็ปล่อยให้แม่น้ำไหลไป เราหาว่าอะไรเป็นต้นเหตุของน้ำที่เราใช้อยู่ ...ไปดู ไปพิสูจน์ความเป็นจริง เห็นกับตา แจ้งกับใจ


มันไม่มีปัญหาหรอกเรื่องว่าใครจะทำยังไงหรือไม่ทำยังไง  อยากทำอะไรก็ทำ จะพิจารณาอะไรก็พิจารณา อยากสงบ เอาให้ดิ่งไปถึงโลกันตร์นรกก็ดิ่งเข้าไปสิ ทำไปสิ ...ทำไมจะต้องไปบังคับคนทั้งโลกให้เขาดิ่งเหมือนกูวะ เข้าใจมั้ย

ทำไมพระพุทธเจ้าถึงต้องอุตส่าห์มาพูดตั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แยกเป็นหมวดเป็นหมู่ไปมากมายก่ายกองปานนี้  กัมมัฏฐานมีตั้ง ๔๐ กอง สมถวิธี วิปัสสนา มหาสติปัฏฐาน มากมาย ฌาน ๔ อรูปฌาน ๔  ...ทำไมท่านต้องพูดตั้งหลากหลายล่ะ

แต่ไอ้คนทำตามนี่น่ะสิ มันจะตั้งตัวเป็นพระพุทธเจ้ากันหรือไง จะบอกว่าวิธีนี้วิธีเดียวเท่านั้น มันก็ไปขัดแย้ง ... พระพุทธเจ้าเป็นคนสอนมา สติปัฏฐานท่านก็สอน ไม่ใช่เราสอนคนแรกนี่ ก็ไล่ตั้งแต่พระสารีบุตรลงมานั่นแหละ ก็ว่ากันไป

ดูสิแม้กระทั่งผู้ที่เคร่งครัดจัดๆ อย่างพระเทวทัตเป็นต้น นั่นไปทูลขอเลยนะ ให้ภิกษุอยู่ป่าเป็นวัตร ไม่อยู่บ้าน ไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่รับนิมนต์ อย่างเนี้ย เคร่งนะนั่นน่ะ แต่ละวิธีของพระเทวทัตที่ทูลขอน่ะ 

ท่านบอกให้พระพุทธเจ้ากำหนดบัญญัติลงมาเลยว่า ห้ามภิกษุอย่างนี้ๆ  แต่พระพุทธเจ้าบอกว่าไม่...ไม่ใช่อย่างนั้น  พระพุทธเจ้าบอกว่าเหล่าพวกนี้เป็นธรรมที่ให้เลือก แม้แต่ธุดงควัตรท่านก็บอกว่าเป็นธรรมที่ให้เลือก ท่านไม่ได้ตั้งเป็นวินัย ท่านให้เลือก

แต่ก็ยังมีคนเห็นดีเห็นงามกับเทวทัต ไปอยู่กับเทวทัตตั้งห้า-หกร้อยกว่าองค์ ก่อนเทวทัตจะตาย พระพุทธเจ้าบอกพระสารีบุตร ไปเอากลับคืนมาให้หมด พระสารีบุตรก็ไปเทศน์เอากลับคืนมาหมดทั้งห้า-หกร้อย-พันองค์นั้น

ครูบาอาจารย์หลายองค์ที่เคยไปอยู่กับเทวทัต แล้วพระสารีบุตรเอากลับมา  ท่านถึงเสียโอกาสเลย ไม่ทันเลย ...แต่ก็เป็นการเรียนรู้ไปน่ะ 

แม้แต่พระเทวทัต พอลูกศิษย์ไปหมดแล้วก็ถึงได้สติรู้ตัวเองว่าเราสู้พระพุทธเจ้าไม่ได้หรอก ธรรมของเราก็เปรียบเทียบกับพระพุทธเจ้าไม่ได้เลย นี่ขนาดลูกศิษย์พระพุทธเจ้ายังมาเรียกเอาพวกที่มาอยู่กับเราคืนกลับไปได้หมด 

นั่น ป่วยหนัก กระอักเลือดเลยนั่น จะตายมิตายแหล่ เสียอกเสียใจมาก ฌาน อภิญญาเสื่อมหมด ใช้คนแบกมา จะมาขอโทษพระพุทธเจ้า หามมาๆ เดินไม่ไหวแล้ว ...พอมาถึงจะลงมากราบพระพุทธเจ้า ก็ธรณีสูบตาย ไม่ได้ทันกราบพระพุทธเจ้า

ในสมัยโบราณ สมัยพระพุทธเจ้านี่ก็มีหมดเหมือนกัน...เหตุการณ์ต่างๆ  เพราะจิตของมนุษย์น่ะมันมีเหมือนกันน่ะ แบ่งแยกเหมือนกัน แบ่งพรรคแบ่งพวกเหมือนกัน  พระบ้าน-พระป่าทะเลาะกัน พระปริยัติ-พระปฏิบัติทะเลาะกัน 

มีนะ ที่เมืองไหนล่ะที่พระพุทธเจ้าหนีไปอยู่ป่าเลไลย์น่ะ เคยได้ยินมั้ย ...เพราะพระมาเถียง ทะเลาะกัน กูดีกว่า ถูกกว่า  พวกปฏิบัติก็ว่าพวกพระปริยัติเอาแต่เรียน ไม่ปฏิบัติ  ...ทะเลาะกัน ไม่ลงกัน แบ่งแยกกัน 

พระพุทธเจ้าไปห้าม ไปบอกให้เลิก ให้หยุดซะ ดีทั้งคู่ ไม่ผิดหรอก ทำไปเหอะ ...มันยังไม่ฟังเลย  นั่นขนาดพระพุทธเจ้าไปพูดเองนะนั่น มันยังไม่ฟัง ทะเลาะกันอยู่นั่น 

พระพุทธเจ้าท่านเลยไม่พูดแล้วไปจำพรรษาในป่าองค์เดียว ในป่าเลไลย์ ก็มีลิงกับช้างมาคอยหาอาหารมาถวาย อยู่องค์เดียว ไม่ให้ใครมาอยู่ด้วย ...ดัดสันดานพระ

คราวนี้พวกชาวบ้านก็เห็น เนี่ย พระทะเลาะกันจนเดือดร้อนพระพุทธเจ้ามาห้ามแล้วก็ยังไม่ฟัง จนพระพุทธเจ้าหนีไปอยู่ป่า ลำบากอยู่องค์เดียวในป่า 

ชาวบ้านเลยตัดสินใจร่วมกัน ไม่ใส่บาตรพระเหล่านั้น ...เลยเกิดพิธีที่เรียกว่า "คว่ำบาตร" เข้าใจความหมายของคำว่าคว่ำบาตรมั้ย นั่นแหละ คือตัดสินใจคว่ำบาตรพระ...คือไม่ใส่บาตรซะ

ทีนี้เอาแล้ว พอคนไม่ใส่บาตร พระเดือดร้อนแล้ว  ไอ้ที่ทะเลาะกันนี่ก็เริ่มราลง ชาวบ้านก็บอก...ถ้าจะให้ใส่บาตรก็เลิกทะเลาะกันแล้วอยู่ด้วยกันโดยสันติ แล้วไปทูลเชิญพระพุทธเจ้ากลับมาให้ได้ 

เอาเข้าหลายๆ วันนี่ก็อยู่ไม่ได้แล้ว พระสมัยก่อนไม่มีอุปัฏฐากนี่ หากินเองก็ไม่ได้ ...ก็เลยได้สติขึ้นมา ก็เลยกลับมาคืนดีกัน ถึงได้ทูลเชิญพระพุทธเจ้ากลับมา

นี่แหละ การเอาถูกเอาผิด การเถียงกัน มันมีแต่รังแต่จะเสื่อมทรามลง ไม่ใช่ว่าเป็นการจรรโลงศาสนาเลย 

จิตใจต้องกว้างขวาง ต้องเปิดกว้าง ...ใครพอใจอะไรทำไปเถอะ ถูก-ผิดก็ทำไปเถอะ ...มันก็เป็นบุญบารมีทั้งนั้น การปฏิบัติน่ะ  มันจะมาติดขัดก็แค่มาลังเลสงสัยอยู่แค่นี้ มันไม่ไปไหนหรอก

เจริญสติ รู้เข้าไป รู้ถูกรู้ผิดก็รู้เข้าไปเถอะ อย่าให้ขาด ...จะจงใจ จะตั้งใจ จะอะไรก็ตาม รู้เข้าไปเถอะ  มันค่อยปรับเปลี่ยนไปเอง ...อย่าไปกลัวผิด อย่าไปกล้าๆ กลัวๆ  เดี๋ยวมันก็ปรับไปเอง 

จะรู้แบบเพ่ง จะรู้แบบเบาๆ จะรู้แบบตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ รู้เข้าไปเถอะ  แล้วมันจะแยกแยะด้วยความชำนาญ ด้วยความแยบคายของสติ ...มันจะคัดกรองด้วยตัวของมันเองนั่นแหละ

ไม่ต้องไปดิ้นรนกระวนกระวาย กระเสือกกระสน จะเอาให้ถูกที่สุด ...ไม่มีใครถูกที่สุดหรอก เริ่มต้นทุกคนน่ะ ... เหมือนเด็ก ตั้งไข่ ตอนเดินน่ะ มีใครออกจากท้องแม่แล้วเดินได้นอกจากพระพุทธเจ้า ไม่มีหรอก 

กว่าจะเดินได้ก็ล้มแล้วล้มอีก ...แต่ไม่ถอยนะ  เด็กมันยังไม่ถอยนี่ กว่ามันจะเดินเป็น กว่ามันจะยืนด้วยลำแข้งของตัวเองได้  ...การปฏิบัติมันต้องมีความพากเพียร คือไม่ท้อ ไม่ถอย

จะผิดกี่ครั้ง จะดูเหมือนไม่ได้ผลก็ตาม ทำไปเหอะ ทำไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะแนวไหนสายไหน ... อยากจะนั่งก็นั่งไป อยากจะกำหนดจิตสงบก็กำหนดไป ...เดี๋ยวก็มีทางไปของมันต่อได้เองน่ะแหละ


(ต่อแทร็ก 2/11)



                                  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น