วันศุกร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

แทร็ก 2/12


พระอาจารย์
2/12 (530807C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
7 สิงหาคม 2553


พระอาจารย์ –  การปฏิบัติต้องใจเย็น อย่าใจร้อน อย่ามุ่งไปแต่ที่ผล  

มรรคคือต้องมุ่งอยู่ในปัจจุบัน ปัจจุบันกายและปัจจุบันจิต ให้มันเป็นปัจจุบันธรรมเท่านั้น ...อย่าไปมองคาดการณ์ไปข้างหน้า หรือไปคิดว่าจะได้อะไร 

สติน่ะรู้เปล่าๆ  รู้แล้วทิ้ง ไม่ใช่รู้แล้วเอามาสะสม เป็นความรู้อะไร ...รู้แล้วก็ผ่าน รู้แล้วก็ปล่อย  ดีก็ช่าง ร้ายก็ช่าง มากก็ช่าง น้อยก็ช่าง จะอะไรก็เรื่องของมัน 

รู้อย่างนั้นน่ะ ถึงจะเรียกว่ารู้แบบไม่มีเงื่อนไข รู้แบบเป็นกลางๆ อยู่ในองค์มรรค จิตเป็นกลาง คือรู้กลางๆ ไม่ใช่รู้เอา รู้แล้วคาด รู้แล้วคำนึงไปข้างหน้า

อันนั้นน่ะรู้ไม่กลาง รู้แบบสุดโต่ง รู้แบบมีเป้าหมาย รู้แบบไม่เป็นไปตามเป้าหมาย  มันก็เลยกลายเป็นทุกข์ ทุรนทุราย คับแค้น ... ยิ่งดูยิ่งคับแค้น ยิ่งดูยิ่งแน่น ยิ่งดูยิ่งไม่ได้ดั่งใจ ...เพราะมันอยากได้ดั่งใจ

ดูไปเรื่อยๆ  สติมันจะปรับให้กลางขึ้น ... "ช่างมัน" ... ช่างมันลูกเดียว ช่างหัวมันด้วย เอ้า  อย่าว่าแต่ช่างมัน ต้องช่างหัวมันด้วยเพราะมันเรื่องของมันจริงๆ ไม่ใช่เรื่องของเรา 


โยม –  เรื่องของมัน

พระอาจารย์ –  เป็นเรื่องของกาย เป็นเรื่องของจิต ...กายไม่ใช่เรา จิตไม่ใช่เรา  ไม่มีเราในขันธ์ ไม่มีขันธ์ในเรา 

แต่ความคุ้นเคยน่ะมันก็จะเห็นว่ากายก็ของเรา จิตก็ของเรา ...ตรงนี้เราจะต้องอดทน เพราะมันจะส่ายแส่ออกไปหาอะไรที่...กายดีกว่านี้...จิตดีกว่านี้ ด้วยความคุ้นเคย 

ต้องอดทน ซ้ำซาก จำเจอยู่ตรงนี้แหละ ...ไม่ไปไหนหรอก ไม่มีไปไหนหรอก ...จะไปไหนๆ ..จะไปนิพพานหรือ


โยม –  ไม่ใช่เจ้าค่ะ ไม่ได้อยากนิพพาน  อยากเป็นคนปกติ เฉยๆ ไม่ร้อนแรง  เอ่อ คือ อารมณ์มันแรงเจ้าค่ะ  ความอยาก ความโกรธ ความอะไรอย่างนี้ค่ะ มันจะแรงผิดปกติกว่าคนอื่นที่เรามองเห็นน่ะเจ้าค่ะ

พระอาจารย์ –  จำไว้ หลักของการปฏิบัติ...อย่าออกนอกปัจจุบัน  กลับมารู้บ่อยๆ ในปัจจุบัน   อย่าทิ้งปัจจุบัน ...อย่างน้อยยังละปัจจุบันไม่ได้ก็ให้รู้ปัจจุบัน อย่าเพิ่งไปรีบทิ้งมัน 

ถ้าทิ้งได้ก็ทิ้ง ถ้าทิ้งไม่ได้ก็ให้รู้ตรงนั้นแหละ ไม่ใช่ว่าเราจะไปทิ้งมันได้ ด้วยความปรารถนาหรือความอยาก...ไม่ใช่  มันจะทิ้งได้ด้วยปัญญา...คือมันจะต้องวางเอง  บทมันจะวาง มันวางของมันเอง

รู้ไปอย่างนั้นน่ะ รู้ปัจจุบัน แล้วมันจะค่อยๆ ละปัจจุบันไปเอง เมื่อมันเพียงพอหรือมันพร้อม ...เหมือนกับบ่ม บ่มปัญญาไปเรื่อยๆ  

การจะรู้เฉยๆ มันก็หมายความว่าเราหยุดการเข้าไปยุ่งกับมัน เข้าไปกระทำกับมัน ก็เหมือนกับว่าเราหยุดไปสร้างเหตุปัจจัยให้มันต่อเนื่อง...ในสิ่งที่อยู่ในปัจจุบันที่มันยังค้างยังคา ยังเสวยผลในปัจจุบันนั้น ๆ

พอเรารู้เฉยๆ ไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับมันบ่อยๆ  ต่อไปมันก็จะเห็นว่าเมื่อเราไม่ยุ่งกับมัน แค่รู้เฉยๆ นี่ มันก็ดับของมันเองได้  ตรงนี้...มันจะเรียนรู้จากตรงนี้ จิตเขาจะเรียนรู้ตรงนี้ ปัญญาก็จะเห็นความเป็นจริงอันนี้ 

แต่ว่าไม่ใช่เห็นแค่ครั้งสองครั้งแล้วมันจะวาง ...เพราะว่าเรายึดกับอารมณ์มาก ยึดกับการเข้าไปมีเข้าไปเป็นกับมัน ทั้งในแง่บวกและในแง่ลบ ทั้งในแง่จะให้มันคงอยู่นานๆ และก็ทั้งในแง่ให้มันหายเร็วๆ

เห็นมั้ย ความยึดมั่นถือมั่นอันนี้มันแรง มันมาก มันจะเกิดอาการซ้ำซากๆ ไม่หายสักที ...เป็นอย่างนี้

ต้องอดทน...ที่จะเอาสติเป็นกลางกับมันให้มากที่สุด คือรู้เฉยๆ กับมัน ไม่ยุ่งเกี่ยวกับมัน แล้วก็เห็นความเปลี่ยนไปของมันเอง ในตัวของมันเอง  จิตมันจะเห็นไตรลักษณ์ด้วยตัวของมันเอง เห็นอาการที่มันตั้งอยู่ในปัจจุบันนั้นเป็นไตรลักษณ์

อารมณ์ ความรู้สึก หรือสิ่งที่เรายึด เราข้อง เราพัวพันนี่ ...พอเราอยู่กับมัน รู้กับมันตรงนี้เฉยๆ ปุ๊บนี่ มันจะหยุดการสร้างกรรม หรือมโนกรรม 

พอหยุดที่จะมีเจตนากับมัน ทั้งในแง่ใดแง่หนึ่ง ...การตั้งอยู่ของมัน คือมันจะหมดเหตุปัจจัยของมันที่จะเข้าไปก่อเกิดต่อเนื่อง เข้าใจมั้ย ความดับไป...มันก็จะเกิดความดับไปของมันเอง 

เพราะนั้นว่าไอ้การที่มันตั้งอยู่ได้ แล้วมันไม่หายไปไหนนี่...มันถูกหล่อเลี้ยงโดยตัณหา เป็นน้ำเลี้ยงมันอยู่ คือยังมีความอยาก-ไม่อยากอยู่กับอารมณ์นั้นๆ อยู่กับสิ่งที่ปรากฏตรงนั้น

ตรงเนี้ยคือสิ่งที่มันหล่อเลี้ยงภพ หรือว่าหล่อเลี้ยงการตั้งอยู่ของเวทนาหรืออุปาทานนั้นๆ  ความดีก็ตามความไม่ดีก็ตาม อารมณ์ก็ตาม มันมีความอยากกับไม่อยากเป็นตัวเลี้ยงให้มันตั้งอยู่ คงอยู่ มากขึ้น-น้อยลง มากขึ้น-น้อยลง อยู่เนี่ย

ขณะที่เราเอาสติเข้าไปรู้นี่ มันมีสติเข้าไปรู้ แต่ว่ามันรู้ด้วยตัณหา เข้าใจมั้ย มันเข้าไปรู้พร้อมกับตัณหา พร้อมกับความอยากและไม่อยาก ...ตรงนั้นมันกลายเป็นตัวหล่อเลี้ยงให้มันตั้งอยู่ 

จนกว่าสติจะเป็นกลางๆ คือรู้แบบไม่เอาเรื่องเอาราวกับมัน ... ยังไงก็ได้ อะไรก็ได้ ที่เราบอกว่ารู้แบบไม่มีเงื่อนไขกับมัน อย่างนี้ ...มันจะไม่มีตัณหาเป็นตัวหล่อเลี้ยงอาการนั้นๆ

เพราะนั้นการตั้งอยู่ของมัน มันก็จะหมดเหตุปัจจัยในการตั้งอยู่ของมันเอง แล้วมันก็จะค่อยๆ เป็นไปตามกฎของไตรลักษณ์ ... ตรงนั้นน่ะ ปัญญามันจะเก็บความจริงของอาการนั้นๆ ที่แสดงไปตามความเป็นจริง ...มากขึ้นๆ

จนถึงวาระที่มันยอมรับ ...พอยอมรับปุ๊บนี่ มันก็วางเอง ไม่ไปยุ่งกับมันเลย  แค่เห็นผ่านๆ แค่เห็นเบาๆ ไม่ไปมีไปบวกไปลบอะไรกับมัน ไม่ไปอยากหรือไม่อยากอะไรกับมัน ไม่ไปเดือดเนื้อร้อนใจกับมัน

ไอ้การที่เรารู้แล้วเดือดเนื้อร้อนใจนั่นแหละ มันมีความอยากกับไม่อยาก เข้าใจมั้ย  มันจึงเกิดอาการเดือดเนื้อร้อนใจ ดิ้นรนกระวนกระวาย ทุรนทุราย รับได้-รับไม่ได้ หรือว่ายินดียินร้ายเกิดขึ้น อย่างเนี้ย

ความเป็นไปพวกนี้ ที่จะทำให้การตั้งอยู่ของอาการ หรือภพ หรืออุปาทานภพนั้น  มันคงอยู่ หรือว่ายืดเยื้อยาวนานต่อเนื่อง

แต่ถ้าเรารู้แบบธรรมดา รู้แบบไม่มีอะไรกับมัน รู้แบบไม่รู้ไม่ชี้  'ช่างหัวมัน' ...ตรงนี้มันดูเหมือนเป็นคำพูดง่ายๆ  แต่จริงๆ น่ะคือมันรู้แบบไม่มีตัณหา รู้แบบไม่เข้าไปบอกว่าต้องอย่างนั้นต้องอย่างนี้นะ 

อาการมันก็จะหมดไปของมันเองตามเหตุและปัจจัย...เมื่อมันหมดเหตุปัจจัยแห่งการคงอยู่ด้วยตัณหานั้น

เพราะนั้นไม่ต้องกลัวว่ามันไม่ดับ  ยิ่งกลัว...ยิ่งไม่ดับ ยิ่งไปทำ...ยิ่งไม่ดับ ยิ่งไปทำ...ยิ่งต่อเนื่อง ยิ่งไปทำ...ยิ่งสับสน  

เพราะการกระทำแต่ละครั้งน่ะ มันมีวิธีกระทำเยอะแยะมากมาย แล้วเราจะไขว่คว้าหาแต่วิธีกระทำ เอาให้ถูกที่สุด แบบรู้ปั๊บดับปุ๊บ ...จะเอาวิธีนั้นเลยน่ะ

มันมีความปรารถนาอย่างนั้นลึกๆ ทุกคนน่ะ นักดูจิตทั้งหลายน่ะ  ดูแล้วจะให้โล่งราบเรียบหมดไม่เหลือหลออะไรในใจเลยอย่างนั้นน่ะ 

"เป็นเป้าหมายสูงสุดของกูเลย ตั้งใจว่าดูแล้วต้อง พรึ่บ ๆ ๆ หายหมด" อย่างเนี้ย  พอสติระลึกรู้ปุ๊บ หายๆๆ เหมือนแมวกับหนูอ่ะ ตะปบกินหมด คล้ายๆ อย่างนั้น

เห็นมั้ย มันมีความปรารถนา ...แต่ว่าพอความปรารถนานั้นมาเจอกับความเป็นจริง ... "กูดูอะไรมันไม่เคยดับเลย เห็นอะไรมันก็ตั้งอยู่อย่างเดิมน่ะ" โกรธก็ยังโกรธ...เออ ยิ่งมากขึ้นด้วยซ้ำ (หัวเราะกัน)  ...

ความคิดเหมือนกัน ฟุ้งซ่านเหมือนกัน  พอดูแล้วนึกว่าความฟุ้งซ่านจะดับ ก็ไม่เห็นจะดับ  มันยิ่งฟุ้งซ่านมากขึ้นไปเรื่อย อย่างนี้...เอาแล้ว เริ่มลังเลแล้ว เริ่มสับสนแล้ว "กูดูถูกรึเปล่าวะเนี่ย สติกูถูกรึเปล่านี่ต้องหัดใหม่แล้ว" ...ยิ่งวุ่นวายเข้าไปใหญ่

เพราะนั้นน่ะ การที่เราตั้งเป้าอะไรไว้ แล้วมาดูตามความเป็นจริง แล้วมันไม่เหมือนที่เราตั้งไว้เมื่อไหร่นี่...ฟุ้งซ่านแล้ว ส่ายแส่แล้ว ไม่ตั้งมั่น ไม่ยอมรับความเป็นจริง เห็นมั้ย จิตไม่ยอมรับความเป็นจริงแล้ว 

ไม่ยอมรับความเป็นจริงเพราะอะไร ...เพราะมันไม่เห็นตามความเป็นจริง  มันจะเห็นตามที่มันต้องการ เข้าใจมั้ย

สติไม่ใช่เป็นเครื่องมืออะไร สติไม่ใช่เป็นอาวุธ เข้าใจมั้ย  สตินี่ไม่ใช่อาวุธนะ  ปัญญาต่างหากคืออาวุธ คมกล้าคืออาวุธ...นี่คือว่าปัญญาวุธ  

แต่สติไม่ใช่อาวุธ สติเป็นตัวช่วย แค่นั้นเอง เป็นตัวที่มาทำหน้าที่เฝ้าสังเกตการณ์ เพื่อให้เกิดความเข้าใจ ว่าอะไรคืออะไร มันจริงหรือมันเท็จ มันหลอกหรือว่ามันไม่หลอก อย่างนี้ต่างหาก

สติมันแค่เป็นผู้คอยสังเกตแล้วดูความเป็นจริงนั้นๆ ไม่ได้ฆ่าไม่ได้ทำลายอะไร ...แต่ไอ้ตัวฆ่าหรือว่าตัวทำลายความเห็นผิด หรือว่าความหลงออกไปนี่ คือความเข้าใจต่างหาก หรือว่าปัจจัตตัง..."อ๋อ มันอย่างนี้เอง" ... นี่เรียกว่าปัญญา

พอมันอ๋อ มันเข้าใจแล้ว มันก็ปล่อย ทำลายความเห็นผิดนั้นทิ้งซะ .. “ก็มันยังไม่เกิด จะไปเอาอะไรกับมัน” นี่ วางแล้ว “..มันเป็นเรื่องของอนาคต มันไม่ใช่เรื่องของปัจจุบัน” ..ปล่อยเลย อย่างเนี้ย...ปัญญา

มันเห็นน่ะ ว่าไอ้ที่เราเคยหมายมั่น มันไม่ใช่เดี๋ยวนี้ มันยังไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย...ที่เกิดก็คือที่เกิด มันตั้งอยู่ก็คือตั้งอยู่ ...คือยอมรับตามความเป็นจริงทุกกระเบียดนิ้ว เนี่ย มันเห็นด้วยปัญญา

แต่กว่าจะเห็นตรงนี้ มันจะต้องใช้สติที่เป็นกลาง จึงจะเห็นความเป็นจริงได้ เข้าใจมั้ย ...ถ้าสติไม่เป็นกลาง มันแลบไปแลบมา อดีตกับอนาคต  อยู่ปัจจุบันนิดนึง แล้วก็ไพล่ไปอยู่กับอดีตอนาคตซะมากกว่า 

ดูตรงนี้ แต่ไปคาดผลเอาข้างหน้า เข้าใจป่าว ...แล้วก็อยู่กับตรงคาดผลข้างหน้าว่า “...ทำไมไม่หาย ๆ ...ทำไมยังเป็นยังงี้ ๆ”  เข้าใจมั้ย

ก็มันยังเป็นอยู่น่ะ...ไม่ดูไอ้ตรงที่มันเป็น  แต่ไปอยู่ที่ “ทำไมมันเป็นยังงี้ๆ” อยู่อย่างนี้ ...คืออนาคตนะนั่นน่ะ  จิตมันแลบออกไปตรงนั้น แล้วไปจริงจังกับสิ่งที่มันยังไม่เกิดเลย 

ไอ้ที่เกิดน่ะละทิ้ง สติไม่ทำหน้าที่รู้เฉยๆ ...คือสติทิ้งธรรมในปัจจุบัน แต่ไปคาดหมายในธรรมในอนาคต  ถ้าพออนาคตไม่เกิด มันก็จะมาใคร่ในอดีตว่า...เราเคยทำยังไง ดูยังไงจนมันหายวะ 

จะต้องเอาวิธีการนั้นทบทวนกลับคืนมาดูให้ได้ เพื่อให้ปัจจุบันนี้มันราบเรียบให้หมด  แล้วก็มาแวบดูปัจจุบัน “..ยังอยู่โว้ย ..เฮ้ย ทำไมยังไม่หายวะเนี่ย” เห็นมั้ย มันจะเป็นยังเงี้ย

คือสติไม่ตั้งมั่น ...เข้าใจคำว่าตั้งมั่นรึยัง  มันไม่ตั้งมั่นอยู่ในปัจจุบัน มันไปตั้งในอดีตและอนาคต  เพราะนั้นสติสมาธิที่ไปตั้งในอดีตและอนาคตท่านเรียกว่ามิจฉาสติ ท่านเรียกว่ามิจฉาสมาธิ เข้าใจมั้ย 

มันจะก่อให้เกิดภพและชาติ ก่อให้เกิดอุปาทานมากขึ้น หมายมั่นมากขึ้น  เพราะฉะนั้นผลของมันก็คือ ทุกข์ๆๆ ...ทุกข์มากกับทุกข์น้อย สองอย่าง ไม่มีคำว่าไม่มีทุกข์ 

แต่ถ้าอดทนกับทุกข์ในปัจจุบัน รู้เฉยๆ กับปัจจุบัน  ตรงนี้เป็นมรรค คือการเจริญมรรค  สติเป็นกลางกับปัจจุบัน ...อดทน อยู่ที่ความอดทน 

นี่ทุกข์แล้ว ต้องอดทนต่อทุกข์ในปัจจุบัน ปั๊บ ผลก็คือ วาง แล้วมันหายไปเอง เกิดปัญญา ต่อไป...รู้ปุ๊บ...เบา เห็นเป็นเรื่องของมันไม่ใช่เรื่องของเรา ... นี่ ผลของการเจริญมรรคคือ วาง

แต่ถ้าผลของสมุทัย คือมิจฉาสติ มิจฉาสมาธิ เมื่อไหร่ ...มีแต่ทุกข์เพิ่มขึ้น มีแต่ความลังเลสงสัย มีแต่ความขุ่นมัวเศร้าหมอง มีแต่ความกลัว มีแต่ความเพ่งโทษตัวเอง เพ่งโทษคนอื่น หาถูกหาผิด ส่ายแส่อยู่ตลอด เห็นมั้ย มันหลุกหลิกๆ เหมือนลิงน่ะ..เหมือนลิง ไม่อยู่ในที่อันเดียว 

จนกว่าจิตมันจะอยู่ในที่อันเดียว ...แรกๆ มันอาจจะไม่ใช่กายเดียวจิตเดียว แต่ว่าที่อันเดียวคือปัจจุบัน อยู่ในปัจจุบันธรรม  ยังไงก็ยังงั้น อะไรที่ทรงอยู่ในปัจจุบัน ไม่ต้องไปกำหนดหมายมั่นว่าถูกหรือผิด ...ตรงนี้จะเป็นหลักให้เราอยู่กับปัจจุบันได้โดยไม่มีเงื่อนไข

แต่ถ้าพอรู้ปัจจุบันเห็นปัจจุบันปุ๊บ แล้วเราไม่ทันความหมายมั่น ไม่ทันที่เรากำลังจะบอกว่า “เนี่ยไม่ดีนะ” ...นี่ มันจะไพล่ไปในอดีตและอนาคตทันที เกิดความหลงต่อไปอีก หลงปรุงต่อไปข้างหน้าและไปข้างหลัง

แล้วเราก็จะตายอยู่แค่ตรงนี้ แล้วมันจะซ้ำซากอยู่ในอาการนี้ มันจะซ้ำซากอยู่ตรงนี้ ...ไม่อดทน จะเอาแต่ดี จะเอาแต่ความสุข เนี่ย มันคาดหวัง อยู่ด้วยความคาดหวัง ...สติที่ไปเป็นข้างหน้าหรือข้างหลังนี่คือมันคาดเอาหรือคะเนเอา

พอมันไม่ได้ ดูกี่ทีๆ ก็ไม่ได้สักทีนี่ ... เอาแล้ว เริ่มท้อแล้ว เริ่มถอยแล้ว ..."ดูผิดรึเปล่า หรืออาจารย์สอนผิด" ... ว่ากูอีก...(โยมหัวเราะกัน บอกว่า – ไม่มีใครกล้า) ...มันแอบว่า มันไม่บอกหรอก (หัวเราะ)

มันก็หาใหม่...หาวิธีการอีกแล้ว เนี่ย  ...ไม่มีวิธี บอกแล้วไง มันไม่มีวิธี  แต่ว่ามันอยู่ที่อดทน และก็รู้อยู่ในปัจจุบัน ...เพราะนั้นพยายามตีกรอบให้อยู่ในปัจจุบันด้วยความอดทน ขันติ อย่าหนีมัน ...ไม่หนี ไม่แก้ บอกแล้วไง จำไว้

ไม่ดีก็ไม่ดี ... ช่างมัน เพราะจิตมันไม่ดีตั้งแต่เกิด และไม่ดีตั้งแต่ก่อนเกิด  อย่าหาจิตดี ไม่มีหรอก...ไม่มี  ...ตราบใดที่มีจิต มันไม่ดีหรอก 

จิตคือทุกข์ ...ไม่ต้องเถียงกันเลย  สิ่งที่ส่งออกเป็นสมุทัย หรือจิตเป็นสมุทัย ...จิตนั่นแหละคือต้นเหตุแห่งทุกข์ เป็นทั้งสมุทัย และส่งออกก็เป็นสมุทัย 

คือมันสมุทัยตั้งแต่หัวจรดตีนน่ะ  ตั้งแต่เริ่มต้น ยันกลาง แล้วก็สุดท้าย คือทุกข์หมดแหละ ...ได้ดวงจิตนี้มา คือทุกข์ ไม่มีสุขหรอก

เพราะนั้นอย่าไปหาความสุข ...อย่าไปเข้าใจว่า นิพพานัง ปรมัง สุขขัง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง  แต่พวกเราไปคิดความหมายของสุขอีกแบบนึง  แต่สุขแบบไม่มีกิเลส เราก็บอกน่าจะมีความสุ้ขความสุข มันคนละความหมายกับสุขอุปาทานเลย 

นัตถิ สันติ ปรมัง สุขขัง เห็นมั้ย  สุข สงบ สันติ  นั่นแหละคือสุขที่แท้จริง คือสุขแบบสันติ เข้าใจมั้ย ...ไม่ใช่สุขแบบกินข้าวอร่อย เห็นคนรักแล้วมีความสุข นี่ มันไม่ใช่สุขแบบนั้น 

นิพพานไม่ใช่สุขแบบนั้น อย่าไปเข้าใจว่าจิตจะมีความสุขอย่างนั้น ...แต่เป็นสุขที่เป็นสันติ ไม่มีเงื่อนไข ยอมรับกับทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏ แล้วไม่เข้าไปพัวพัน เป็นอิสระซึ่งกันและกัน

แต่ตอนนี้มันไม่เป็นอิสระ ... อารมณ์ก็กลายเป็นเราไปยุ่งพัวพัน แทนที่จะอารมณ์ก็อารมณ์แล้วก็รู้ส่วนรู้ อย่างนี้ เข้าใจมั้ย มันจะมาก มันจะน้อย รู้เฉยๆ เข้าใจป่าว ...มันจะแยกกันอย่างนี้

พอเรารู้แรกน่ะมันแยก แต่ดูไปดูมา...มันเข้าไปแล้ว (โยม – ใช่เจ้าค่ะ) มันจะเข้าไปพัวพันทันที  ...เพราะนั้นพอเริ่มพัวพันแล้วเราจะมึนตึ้บ  หรือว่ามืดบอด 

เข้าใจคำว่ามืดบอด หลงมัวเมามั้ย  มันจะเมากับอารมณ์ เหมือนคนกินเหล้าน่ะ เมาไม่รู้เนื้อรู้ตัว ...ตรงเนี้ย ถ้ารู้เมื่อไหร่ ถอยออก รู้แล้วถอย แยกออกเลย ช่างมัน รู้ๆ

ถ้ายังแยกไม่ออก หรือมันยังหลงคิด หลงหาถูกหาผิดหาแก้ ... กลับมารู้กาย แยกรู้กับกายซะ  มาตั้งหลักอยู่กับกายก่อน คิดอะไรไม่ออกบอกอะไรไม่ถูก...รู้กายก่อน ตั้งหลักก่อน

กายมันมั่นอยู่แล้ว มันมีอยู่ตลอด มันคงที่ มันค่อนข้างจะเป็นกลาง  พูดง่ายๆ มันไม่บวกไม่ลบเท่าไหร่ 

ถ้าเป็นอารมณ์น่ะ มันค่อนข้างจะให้ค่าไว้สูง  ความคิดก็ตาม ความคาดหมายก็ตาม ...พวกนี้ที่เป็นนามนี่ ส่วนมากเรามีการหมายมั่นเป็นบวกเป็นลบอยู่แล้ว

แต่พอมาตั้งมั่นอยู่กับกายนี่ กายค่อนข้างจะทื่อๆ เหมือนก้อนๆ เข้าใจมั้ย  มันไม่ได้บอกว่าดีหรือไม่ดี มันไม่บอกว่าถูกหรือบอกว่าผิด เข้าใจมั้ย มันจะเป็นกลางๆ ... เพราะฉะนั้น ให้มารู้กับกายซะ ตั้งหลัก

ตั้งหลักก่อน แล้วก็ 'ช่างหัวมัน' ช่างหัวความคิด ช่างหัวอารมณ์ เข้าใจมั้ย ไม่ต้องสนใจมัน ...อย่าไปดูแบบจะเอาชนะมัน หรือจะดูเพื่อให้ข้ามมัน...ไม่มีข้าม ยิ่งดูยิ่งจม เพราะว่ายังดูไม่เป็น สติยังไม่เป็น ยังไม่ตั้งมั่น

ดูไปดูมามันเข้าไปอยู่กับอดีตแล้ว เข้าไปอยู่กับอนาคตแล้ว เข้าไปคาดหวังแล้ว เข้าไปทำให้น้อยลงแล้ว เข้าไปแอบ...ดูแบบอีแอบน่ะ แอบมีความปรารถนาลึกๆ ที่ไม่เปิดเผย

แล้วเราก็ไม่เห็น แบบ... “ไม่ได้อยากนะเนี่ย ไม่ได้อยากเลย” ...ก็มันอยากอยู่ทนโท่ (โยมหัวเราะกัน) อยากให้มันหาย อยากให้มันดีอยู่เนี่ย  เออ มาดูด้วยความอยาก สติที่กอปรด้วยความอยากมันก็เป็นมิจฉาสติอยู่แล้ว

ก็พัฒนาตรงนี้ ...มันไม่ใช่ว่าดูยังไงไม่เป็น เข้าใจมั้ย ค่อยๆ จำแนกออก สติมันก็จะพัฒนาขึ้น พัฒนาขึ้นให้รู้แบบไม่มีเงื่อนไข รู้แบบไม่มีเป้าหมาย ...ไม่มีเป้าหมาย ไม่ใช่ดูเพื่อให้เป็นอะไร

จิตจะเป็นยังไงก็ได้ เรื่องของเขา ...อย่าไปคิดว่าเราไม่ดี จิตเราไม่ดี เข้าใจมั้ย  เราควบคุมไม่ได้ เราควบคุมจิตไม่ได้  เขาจะออกมาในรูปแบบไหน อาการไหน มันอยู่ที่ว่าเหตุปัจจัยที่เราสะสมไว้ เคยทำมายังไง เคยชินอย่างไร

ตรงนี้ มันจะมีอาการนั้นๆ แสดงออกมาเสมอ ...แล้วก็เราก็มาตีค่าว่าดีหรือไม่ดี แล้วก็คนอื่นเขาก็มองแล้วก็ตีค่าว่าดีหรือไม่ดี แล้วเราก็ถูกหลอกซ้ำซากตรงนี้ว่าดีหรือไม่ดี

ซึ่งความจริงก็คืออาการที่ปรากฏนี่เป็นธรรมชาติหนึ่งของจิต เป็นแค่ธรรมชาติหนึ่ง ...มองให้เป็นเรื่องธรรมดาๆ  อย่าไปตื่นเต้น ตกใจ ตระหนก กลัว เสียอกเสียใจ กังวล ...เนี่ย เขาเรียกว่ามองเห็นเป็นเรื่องไม่ธรรมดา

แยกออกมั้ย...ธรรมดากับไม่ธรรมดาน่ะ  มองให้เป็นปกติ เฉยๆ แค่นั้นแหละ สติมันจะค่อยๆ กำชับขึ้นมา มันจะตีกรอบเข้ามา หดตัวเข้ามา  หดเข้ามาทางไหน...หดเข้ามาอยู่แค่ปัจจุบัน เดี๋ยวนี้ อยู่กับตรงนี้ 

ยอมรับความจริงแล้วก็รู้ความจริงตรงนี้...ปัจจุบัน  แล้วเมื่อรู้ปัจจุบันเห็นปัจจุบันโดยไม่ไปไหน ไม่ออกไปไหน มันจะละปัจจุบันนั้นเอง

เพราะมันจะละได้ก็จนกว่าจะเห็นปัจจุบันนั้นไม่เที่ยง เดี๋ยวก็เปลี่ยน ...ในขณะที่โกรธนี่ดูเข้าไปเหอะ ขณะที่ดูอยู่นั้นมันจะเห็นความขึ้นๆ ลงๆ ของอารมณ์โกรธ มันไม่คงตัวอยู่ขณะที่โกรธนี่ 

พอรู้อยู่ตรงนั้นน่ะ จะเห็นเอง ...เดี๋ยวก็มากขึ้น พึ่บๆๆๆ เดี๋ยวก็น้อยลง ...มันจะเห็นตรงนั้นเลย เห็นความเปลี่ยนแปลง แม้ในปัจจุบัน

รู้เฉยๆ  อย่าไปรู้แบบ... "ข้างหน้ามันจะเป็นยังไงต่อไปวะ ถ้าเราเป็นอย่างนี้แล้วคนอื่นเขาจะว่าเรายังไงวะ ถ้าเราทำอย่างนี้แล้วคนอื่นเขาจะด่าเรารึเปล่าวะ ตำหนิเรารึเปล่า" 

นี่ คิดออกไปในอนาคต โดยมีตัวเชื่อมโยงคือความปรุงแต่ง แล้วเราไม่รู้ทัน ออกไปข้างหน้าแล้ว ...กว่าจะรู้ตัวก็ ...'เอ๊อะ เอาอีกแระ' พอรู้ตัวทีก็ ...'เอาอีกแระๆ' (โยมหัวเราะ) ...ก็ท้อแล้ว

นับหนึ่งใหม่ เข้าใจมั้ย ก็นับลงปัจจุบันนั้นเป็นหนึ่งใหม่ เริ่มใหม่ เริ่มตรงนั้นเลย  ...พอเอาอีกแล้ว แล้วก็มานั่งทบทวนถึงอดีต ...“กู ไม่น่าเล้ย” (หัวเราะกัน) “น่าจะดีกว่านี้ น่าจะ...”  นี่เอาแล้ว เอาอดีตมาเป็นอารมณ์อีกแล้ว

ช่างหัวมันๆ อดีตช่างมัน  ลืม...ลืมไป หลง...หลงไป เผลอ...เผลอไป เข้าไปอยู่กับอารมณ์...ช่างมัน  พอรู้ตัวเมื่อไหร่ปุ๊บ นับหนึ่งใหม่ ตั้งมั่นในปัจจุบัน นับใหม่ ปัจจุบันหนึ่งใหม่ ...เพราะปัจจุบันมันมีตลอดเวลา

ก็นับหนึ่งตรงนั้นขึ้นมา อดีตทิ้งไป แล้วก็คอยดูปัจจุบันไป ...เดี๋ยวก็ไปในอนาคตอีก กว่าจะไปรู้ตัว ...มันจะซ้ำอยู่อย่างนี้ ...ก็อาศัยความซ้ำซากนี่ จะชำนาญ มันจะเป็นตัวพัฒนาไปในตัว 

อย่าท้อ เข้าใจป่าว ไอ้ตรงที่ "อย่าท้อ" นี่แหละ ที่เขาเรียกว่าความเพียร เข้าใจมั้ย ...พอท้อเมื่อไหร่มันขี้เกียจดูแล้ว ปล่อยไปเลยอ่ะ ช่างหัวมันแล้ว 

คือมันไม่ได้ช่างหัวมันแบบที่เราบอก 'ช่างหัวมัน' ...แต่มันช่างหัวแบบ 'กูไม่ดูไม่แล ไม่สนใจแล้ว' อย่างนั้นน่ะช่างหัวมันแบบควาย...แบบควายเดินทุ่งอย่างนี้ 

(โยมหัวเราะแล้วร้องกัน – โดนเลยฮ่ะพระอาจารย์...โดน) 

มันไม่สนใจ ไม่ใส่ใจดู มันไม่ตั้งสติ ...ไม่ใช่อะไรหรอก ขี้เกียจน่ะ เข้าใจมั้ย

เพราะนั้น ต้องไม่ท้อ แม้จะไม่เห็นผลอะไรอย่างที่เราคาดก็ตาม ...เพราะไอ้ที่พวกเราคาด มันคาดเกินจริง นะ มันเกินจริง ...ผลจริงๆ ไม่ใช่อย่างที่พวกเราคาดหรอก บอกให้เลย 

เวลามันวาง เวลามันปล่อย เวลามันเข้าใจ มันไม่เหมือนที่เราคิดหรอก ...อารมณ์ก็มี ความคิดก็มี แต่ไม่เดือดร้อนเลย เข้าใจมั้ย จะไม่เดือดร้อนในอาการนั้นเลย ...ไม่ใช่มันไม่มีอะไรเกิดขึ้นนะ มันก็มี....แต่เราไม่เป็นกับมัน แค่นั้นเอง 

แต่พวกเราไปคิดว่ามันจะต้องไม่มีอะไร...เรียบเหมือนกระจก  หรือปกติคือปกติแบบไม่มีอะไรอยู่ในนี้เลย เป็นน้ำก็น้ำใสแจ๋ว ...ไอ้นั่นน่ะ ทำขึ้นมา เป็นจิตที่ทำขึ้นมา ไม่ใช่ธรรมชาติของขันธ์ที่แท้จริง

เพราะนั้นถ้าพวกเราตั้งเป้าไว้นี่ บอกให้เลยว่า...ผิดหมด ที่คาดไว้นี่...ผิดหมด


...............................

วันเสาร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

แทร็ก 2/11


พระอาจารย์
2/11 (530807 B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
7 สิงหาคม 2553


พระอาจารย์ –  เอ้า มีอะไรสงสัยจะถามมั้ย  

โยม  อยากรู้ว่าบางทีเราก็คิดว่าเรารู้ ปฏิบัติแล้วแบบ..ระหว่างโล่งมีความสุขเวลาสวดมนต์ เวลาพูดกับคนเราก็คิดก่อน   แต่เวลาเกิดเหตุการณ์อะไรแล้วรู้สึกท้อใจว่าเราทำไม..ที่เรียนมาหรือว่าตั้งใจที่จะเรียนรู้นี่ เหมือนไม่ได้ความ 

เกี่ยวกับคนรอบด้านก็มองว่าเราก็เป๋ไป แล้วก็เหมือนไม่ได้ผลอะไร ที่แล้วมาทำมาเหมือนไม่ได้ผลเลย ช่วยอะไรไม่ได้เจ้าค่ะ รู้สึกท้อใจว่า...เอ๊ะ เราจะเดินไปทางไหน  บางครั้งก็เหมือนดูแล้วก็ดับไปได้ บางครั้งก็เหมือนทุกข์มากกว่าเก่าเจ้าค่ะ 

ก็เลยไม่รู้ว่า..ไม่รู้จะเดินทางไหน ว่ารู้อย่างไรถึงรู้ให้ถูกต้องน่ะเจ้าค่ะ

พระอาจารย์ –   รู้เข้าไป อะไรเกิดขึ้นก็รู้ ...สงสัยก็รู้ กังวลก็รู้ กลัวก็รู้ ...รู้เข้าไปเหอะ อะไรเกิดขึ้นให้รู้ นั่นแหละ ไม่รู้ถูกหรือรู้ผิดน่ะ รู้อย่างเดียว...เป็นรู้อันเดียวกันหมดน่ะ


โยม –  รู้แล้วก็เป็นทุกข์เจ้าค่ะ   

พระอาจารย์ –  ทุกข์ก็รู้ ไม่สบายใจก็รู้ ...อะไรๆ ก็กลับมารู้  

โยม –  แต่ในขณะที่รู้นั่น แบบ..ไม่รู้เจ้าค่ะ ว่ารู้

พระอาจารย์ –  ก็พยายามรู้เข้าไป  


โยม  แล้วเราจะวัดมาตรฐานตรงไหนคะ เช่น   เวลาที่เราพูดอย่างนี้เจ้าค่ะ แบบโกรธ โมโห อย่างนี้ ควบคุมอารมณ์ไม่ได้เป็นบางครั้ง บางครั้งก็ได้  

แต่พอกลับมาอยู่กับตัวเอง พอคิดขึ้นใหม่ก็โมโหเจ้าค่ะ  เลยกลายเป็นว่า เราคิดว่าเรารู้แล้ว ควบคุมอะไรได้แล้ว ก็สงบดี  แต่พอสักพักนึงมันก็ไม่ใช่ มันก็ไม่หายเจ้าค่ะ

พระอาจารย์ –  ไม่หายก็ไม่หาย  

โยม –  ไม่หายหรือเจ้าคะ ก็...อยากเป็นคนดีเจ้าค่ะ

พระอาจารย์ –  ก็รู้ว่าอยากเป็นคนดี (โยมหัวเราะกัน)


โยม –  อยากเป็นคนดูดี เป็นคนดี เรียบร้อย ไม่พูดจา..ไม่โกรธใครเจ้าค่ะ  

พระอาจารย์ –  นั่นแหละคือปัญหา...ปัญหาคือตรงนั้นแหละ

โยม  แต่มักจะกดข่มได้ พอสักพักก็จะแรงมาก แล้วก็เหมือนหลุดไปเลยเจ้าค่ะ  

พระอาจารย์ –  ไอ้กดข่มได้...นั่นก็ผิดแล้ว 


โยม –  อ๋อ ...เหมือนไม่รู้เจ้าค่ะ ไม่รู้เจ้าค่ะก็ฟังมาตลอด แล้วก็สวดมนต์ไหว้พระ ...แต่ก็คิดว่าตัวเองคงแย่มากเจ้าค่ะ      

พระอาจารย์ –  บอกแล้วว่า "สติ" เป็นแค่ยาม ...รู้จักคำว่า “ยาม” มั้ย   

โยม –  รู้ค่ะ   

พระอาจารย์ –  ยามทำหน้าที่อะไร

โยม  ดูเฉยๆ  ดูแล้วก็คอย..

พระอาจารย์ –  แล้วตอนนี้สติของโยมเป็นยามรึเปล่า  

โยม –  ไม่ใช่ค่ะ เหมือนมีความอยากที่จะควบคุมให้...ไม่เป็นทุกข์  

พระอาจารย์ –   จะไปเป็นผู้จัดการสิ  

โยม (อีกคน)   (หัวเราะพูดกันเอง) อยากจะเป็นผู้จัดการ 

พระอาจารย์ –  เปลี่ยนตำแหน่งจากยามเป็นผู้จัดการ แล้วก็จะไปเป็นเจ้าของบริษัทรึเปล่า..ใช่ป่าว  

โยม  ใช่ ..จะควบคุมเจ้าค่ะ  

พระอาจารย์ – เออ นั่นแหละ แล้วใครบอกว่าบริษัทนี้เป็นของโยม   


โยม –  มันโกรธแล้วมันเป็นทุกข์เจ้าค่ะ

พระอาจารย์ –  ใครบอกว่ามันเป็นของโยม ทึกทักเอารึเปล่า ...ทึกทักเอาเองน่ะ ทึกทักเอาเองว่ามันเป็นของโยมเหรอ  

กายนี้มันบอกมั้ยว่ามันเป็นของโยม จิตนี้มันบอกมั้ยว่ามันเป็นของโยม ...แต่โยมพยายามจะเข้าไปเทคโอเวอร์อยู่เรื่อย


โยม  ใช่ เจ้าค่ะ

พระอาจารย์ –  โดยเข้าใจว่าบริษัทนี้ไม่ดีเลย ไม่ได้ดั่งใจกูเลย 

สติที่ถูกต้องน่ะ บอกแล้วว่าทำหน้าที่เป็นยาม...รู้ยังไง มีแต่รู้...ครับผมๆๆ ...ผ่าน ครับผม...ผ่าน  รู้เฉยๆ ...ใครเข้าก็ได้ใครออกก็ได้ครับ ผมมีหน้าที่...ผมยืนเป็นยามเฝ้าดูอย่างเดียวครับ 

คุณจะเข้าไปทำอะไรกับบริษัทคุณไปทำ คุณจะไปทำให้ดีกับบริษัทก็ทำ ...ผมมีหน้าที่รู้เฉยๆ ครับ ผมอยู่หน้าประตูเป็นยามครับ 

เข้าใจคำว่า “สติ” มั้ย ทีนี้ ...แล้วมันจึงจะเห็นว่าบริษัทนี้ไม่ใช่ของกู ...แต่เราพยายามจะยกระดับตัวเองอยู่เรื่อย  จะมาเป็นซีอีโอรึไง 

หยุด...หยุดเป้าหมาย หยุดการจะเป็นคนดี หยุดเข้าไปให้ความหมายของคำว่าดีหรือไม่ดี  ถ้าเรามีความหมายว่าดีเมื่อไหร่ คนเขาพูดว่าดีก็ดี  ถ้าเรามีความหมายว่าดีเมื่อไหร่ คนเขาว่าไม่ดี เราก็ไม่ดี ...ทุกข์มันอยู่แค่นั้นแหละ


โยม –  หยุดตั้งเป้าหมาย...    

พระอาจารย์ –  ที่จะเป็นคนดี ที่จะให้จิตดี ...บอกแล้วว่าติดก็รู้ติด มีก็รู้ว่ามี มากก็รู้ว่ามาก น้อยก็รู้ว่าน้อย ไม่มีอะไรก็รู้ว่าไม่มีอะไร   


โยม –  มันติดเหมือนเหนียวแน่นเลยเจ้าค่ะ เหมือนทำให้เราเป็นทุกข์...เพราะว่าตัวที่เราอยากมีลักษณะดูดี ...เป็นคนดี ทำให้เราทุกข์เจ้าค่ะ  แต่ว่าบางทีก็รู้ บางทีก็ไม่รู้ แล้วก็กลับมาเป็นสันดานเดิมอีกนี่ เจ้าค่ะ

พระอาจารย์ –  ก็บอกแล้ว ความเพียร อย่าถอย

โยม  อย่าถอย ...แล้วทำยังไงคะ ความเพียรน่ะค่ะ  

พระอาจารย์ –  ก็รู้ไป ...อดทน   

โยม –  อดทนนะเจ้าคะ ...ส่วนใหญ่จะเห็นไม่ค่อยดี 

พระอาจารย์ –  ไม่ดีก็รู้ว่าไม่ดี   

โยม –  อ้อ เจ้าค่ะ  

พระอาจารย์ –  รู้ไปตรงๆ นั่นแหละ ดูไป ดูความไม่ดีของตัวจนตายน่ะ ดูเข้าไป ...ไม่ต้องมาดูว่าแล้วจะได้อะไร แล้วมันจะดีขึ้น ...ไม่มีดีขึ้นหรอก มีหน้าที่ดูอย่างเดียว ไม่ใช่ไปดูให้เป็นอะไรขึ้นมา  


โยม  ไม่รู้จะดูให้เป็นอะไรขึ้นมา 

พระอาจารย์ –  ดูกายสิ เห็นกายมั้ย 

โยม –  เห็นเจ้าค่ะ 

พระอาจารย์ –  ดูไปดูมาแล้วกายเหมือนเดิมป่าว หน้าตามันเปลี่ยนไปมั้ย

โยม –  ถ้าดูกระจกก็เปลี่ยนค่ะ...เปลี่ยนเป็นบางครั้ง ...(หัวเราะ) บางครั้ง แต่ส่วนใหญ่เปลี่ยนเจ้าค่ะ

พระอาจารย์ –  (หัวเราะ) มันสาวขึ้นรึไง

โยม  (หัวเราะกัน) ...มันแก่ มันโรยไปเจ้าค่ะ

พระอาจารย์ –  เห็นมั้ย ดูแล้วมันไม่สามารถจะเป็นอย่างที่เราอยากเห็นน่ะ

โยม –  ใช่ค่ะ ไม่สามารถค่ะ 

พระอาจารย์ –  ก็ใช่น่ะสิ ก็เขาจะเป็นอย่างนี้แล้วมีอะไรมั้ยล่ะ  


โยม –  แล้วสงสัยลูกคงคิดว่า...กลัวบาปมากเจ้าค่ะ

พระอาจารย์ –  ก็รู้ว่าคิด ก็รู้ว่ากลัว    

โยม  แล้วถ้าเกิดว่าเราอยากเป็นคนดี แต่เราคิดนี่ เราคิดในทางไม่ดีนี่ เราจะบาปมั้ยคะ ...มันชอบคิดแบบ "บาป" อะไรอย่างเนี้ยเจ้าค่ะ มันมีไอ้ตัวมาบอกว่า "เอ๊ย บาปนะๆ"  อะไรอย่างนี้

พระอาจารย์ –  ถ้าคิดว่าบาปก็บาป ถ้าไม่คิดว่าบาปก็ไม่บาป   

โยม (อีกคน) เข้าใจแล้วเจ้าค่ะ

พระอาจารย์ –  ตราบใดถ้าเรายังไปผูกพันมั่นหมายกับสิ่งใดก็เป็นอย่างนั้นน่ะ ถ้าไม่อยากบาปก็ไม่ต้องคิด


โยม (อีกคน)   เราคิดเพราะไปจำมา...มันไปจำมา

พระอาจารย์ –  ...เห็นเราเอาแก้วมาวางตรงนี้มั้ย (เสียงวางของ) ...มันบาปรึเปล่า หรือมันเป็นบุญ ..เห็นป่าว 

โยม –  อ๋อ ... เราคิด  มันเป็นที่เราคิดหรอก

พระอาจารย์ –  หรือว่ามันผิด  

โยม  ไม่ผิด 

พระอาจารย์ –  แล้ววางอย่างนี้มันถูกรึเปล่า

โยม –  ไม่ถูกไม่ผิด

พระอาจารย์ –  เขาว่าอะไรมั้ยนี่

โยม –  แก้วจะไปว่าได้ไง 

พระอาจารย์ –  เราน่ะมันแส่ไปให้ค่าตามที่เราคิด  

โยม  มันคิดเยอะ

พระอาจารย์ –  นั่นแหละ บุญบาปอยู่ที่ตรงนั้นแหละ ... แต่ความเป็นจริงนี่ก็คือความเป็นจริง เขาเป็นอะไรรึเปล่า 

เขาเป็นอาการ ...เป็นการปรุงแต่งของขันธ์ การรวมกัน แล้วก็ดำเนินเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป  ถามว่า...เขาเป็นบุญหรือเป็นบาป เขาถูกหรือเขาผิด เขาเป็นกลางๆ รึเปล่า


โยม –  เป็นอย่างที่เห็น 

พระอาจารย์ –  เขาเป็นของเขาอย่างนี้ใช่รึเปล่า(เสียงวางของ)   

โยม –  ใช่

พระอาจารย์ –  เขาไม่ได้ว่าเขาเป็นอะไรใช่มั้ย เราน่ะมันแส่ เราน่ะเข้าไปให้ค่า เราเข้าไปเป็นสุข เราเข้าไปเป็นทุกข์กับมัน...ด้วยความไม่รู้ ด้วยความจำ ด้วยความคิด 

มันจะเกิดความผูกพันขึ้นมา หมายมั่นขึ้นมา เป็นภพขึ้นมา ...เข้าใจคำว่า “ภพ” รึยัง...ไปตั้งอยู่ในความหมายมั่นยังไง เป็นสุข เป็นทุกข์...เกิดเวทนาขึ้นมา   


โยม  แล้วไอ้ที่เรากับไอ้ที่รู้ที่สติน่ะค่ะ  งั้นก็แสดงว่า เราก็ไม่มีสติ เพราะว่าเราเป็นเราตลอดเลยค่ะ...ตั้งตลอด

พระอาจารย์ –  อือ ก็รู้ไป มันเป็นยังไงก็รู้อย่างนั้น

โยม –  มันเป็นตลอดเลยค่ะ   

พระอาจารย์ –  ตลอดก็รู้ตลอด  

โยม –  อ๋อ เข้าใจมั่งแล้วเจ้าค่ะ 

พระอาจารย์ –  คือกลับมารู้ความเป็นจริง ...ไม่ว่าความเป็นจริงขั้นไหน เรารู้ยังไง...จริงหมดแหละ  เข้าใจรึเปล่า ...แม้จะรู้ว่าเป็นเราตลอดเวลา ก็จริง เข้าใจมั้ย ...ไม่ใช่รู้ยังไงไม่ให้เป็นเรา 

อันนี้เป็นของเรา อันนั้นเป็นธรรมของคนอื่น ไม่ใช่ธรรมของเรา ...ก็เรายังว่าเป็นเราอยู่อ่ะ ก็ยังยึดอยู่อ่ะ... ก็รู้ว่ายังยึดอยู่ เข้าใจมั้ย รู้เข้าไปเหอะ 

อย่าไปมองข้ามช็อทดิ อย่าไปเอาความจำ เอาความคิดเข้ามา ...แล้วว่าจะรู้ยังไงให้มันเป็นเหมือนที่เราจำมา ที่เราคิดได้ เข้าใจป่าว


โยม  เป็นของเราทำ เป็นของเรารู้ ไม่ใช่เอาแบบของคนอื่นมา

พระอาจารย์ –  หรือว่า...คาดว่า  เคยได้ยินได้ฟังมาว่า เขาจะต้องรู้อย่างนั้น แล้วเขามีความรู้สึกอย่างนี้เกิดขึ้น แล้วเราทำยังไงถึงจะให้รู้อย่างนั้น...ไม่ใช่อ่ะ 

ก็เรารู้อย่างนี้ ก็เป็นอย่างนี้น่ะ ..ก็มันรู้ทีไรก็มีอารมณ์ทุกที ดูทีไรก็มีอาการ (โยมหัวเราะ-ใช่เลย)...ก็ไม่เห็นเป็นไรนี่ ...ก็มันเป็นของจริง ใช่ป่าว มันเป็นของจริงของเรา ใช่ป่าว

โยม –  ใช่เจ้าค่ะ  รู้ตอนไหนก็มีอารมณ์ตลอด

พระอาจารย์ –  แต่เราปฏิเสธตลอด ปฏิเสธความจริงตลอด   

โยม –  รู้ตลอด แล้วก็ไม่ดีตลอด

พระอาจารย์ –  ไม่ดีก็ไม่ดีดิ

โยม  อ้าว

พระอาจารย์ –  ก็เขาบอกรึเปล่าว่าเขาไม่ดีอ่ะ เข้าใจมั้ย


โยม (อีกคน)  อ๋อ เราไปตีค่าว่าแบบนี้มันไม่ดี

พระอาจารย์ –  ใช่...ด้วยความจำ จำได้อย่างนี้    

โยม (อีกคน)   แต่จริงๆ แล้วมันก็เป็นธรรมชาติที่เกิดขึ้น 

พระอาจารย์ –  คืออาการสักแต่ว่าอาการหนึ่งเท่านั้น 


โยม  ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงแก้ไขแล้วใช่ไหมเจ้าคะ   

พระอาจารย์ –  ไม่แก้ ไม่หนี 

โยม –  อยู่เฉยๆ รู้ไปๆ 

พระอาจารย์ –  ก็บอกแล้วไง ว่าเป็นยาม   

โยม –    ค่ะ

พระอาจารย์ –  แล้วก็จะเห็นว่ามันไม่ได้เกี่ยวอะไรกับกูเลย   

โยม  อย่างนี้ต้องใจสู้แล้วเจ้าค่ะ

พระอาจารย์ –  อือ เข้าใจคำว่าเด็ดเดี่ยว หนักแน่นมั้ย...ไม่หวั่นไหว 

ไม่ใช่เหมือนไม้หลักปักเลน คนพูดซ้ายก็หันขวา คนพูดขวาก็หันซ้าย อย่างเนี้ย  แล้วก็หวั่นไหวไปตามคำพูดหรือคนเขาแสดงอาการต่อหน้าเรา ให้เรามีความรู้สึกว่า 'เอ๊ะ ถูก' ... 'เอ๊ะ ผิด' 

มาตายอยู่แค่ถูกกับผิดนี่แหละ


โยม –  ใช่ เพราะว่าปกติเราก็..โลโก้ของเราคือ สวดมนต์ไหว้พระ อยากทำดีทำดี ...พอเราเกิดเหตุการณ์ซึ่งร้ายแรงนี่  

พระอาจารย์ –  อยากมีภาพของนักปฏิบัติที่ดี    

โยม –  ค่ะ ...แล้วเสร็จแล้วพอมีคนตำหนิน่ะ มันเหมือนผิดหวังมากเจ้าค่ะ ผิดหวังมากเลย 

พระอาจารย์ –  เสีย self  เสียความเป็นนักปฏิบัติหมด 

โยม  (หัวเราะ) ใช่เจ้าค่ะ  

พระอาจารย์ –  เสมือนเขาตี...เขาก็ตีถูกขนดหางน่ะ ตีถูกจุดอ่อน ที่เราตั้งค่าไว้ แค่นั้นเอง  

โยม –  เจ้าค่ะ  

พระอาจารย์ –  ไอ้ค่านั่นคือภพของนักปฏิบัติ ตัวตนที่ดีกว่าตัวตนของความเป็นจริง ... แล้วมันก็พยายามหนีตัวตนของความเป็นจริง เหมือนกับคว้าเงาน่ะ จับเท่าไหร่ก็ไม่เจอสักที ๆ ...ก็เงาอ่ะ 

แต่ตัวจริงนี่หนีตลอด เหมือนกับเราวิ่งไล่เหยียบเงา ไม่เห็นมันตายสักที หรือว่าคว้าจะเอามาเป็นสมบัติของตัวเอง ก็ไม่เคยได้สักที ...ปัญหาคือไอ้ตัวของเรานั่นแหละ

ต้องรู้อยู่ตรงนั้นแหละ อะไรเกิดขึ้นก็รู้อยู่ตรงนั้น  มันจะเป็นยังไงก็ช่าง ไม่เอาดีเอาชั่วมาเป็นตัวตัดสิน ไม่เอาถูกเอาผิดมาเป็นตัวตัดสิน ...เอาเป็นว่ามันปรากฏขึ้นตามความเป็นจริง เป็นปรากฏการณ์หนึ่งของจิต เป็นอาการหนึ่งของจิต  


โยม –  มันรู้สึกไม่ค่อยสบายตลอดฮ่ะ จิตไม่ค่อยสบายเจ้าค่ะ

พระอาจารย์ –  ก็รู้ว่าไม่สบาย ...แล้วก็รู้เข้าไปว่าเหตุของทุกข์จริงๆ มันอยู่ตรงไหน ...ดูเข้าไปเรื่อยๆ แล้วมันก็จะเห็นว่า เพราะเราอยากดี  

ดูไปดูมาแล้วมันจะเห็นเองแหละ ...เพราะความอยากกับความไม่อยาก..สองตัว แต่เราไม่เคยเห็น


โยม  มีแค่สองตัว 

พระอาจารย์ –  มีแค่สองตัว...ปัญหาหลัก  แต่เรามอง...อื๊อ มันอยู่ไหนวะ หามันไม่เจอ  เจอทีไรกูเจอแต่อารมณ์ 

โยม –  (หัวเราะ) เจอแต่อารมณ์ ใช่ค่ะ

โยม (อีกคน)   แต่หลวงพ่อเปรียบเทียบเรื่องยาม โยมว่ามันเห็นภาพเลยนะเจ้าคะ ...อย่างแค่สมมุติเราสมัครใจว่ามันก็คือหน้าที่หน้าที่หนึ่ง เราเป็นยามก็ทำหน้าที่ของเราไปเรื่อยๆ 

แต่เราเวลาพอเราเป็นยามปั๊บ มันจะมีคนมาดูถูกเรา ..เอ๊ย ทำไมเป็นแค่ยามต๊อกต๋อย  เราก็เลยคิดจะพัฒนาว่า เฮ้ย แล้วเป็นหัวหน้ายาม จากหัวหน้ายามต้องเป็นหน่วยรักษาความปลอดภัย แล้วต้องขึ้นไปเป็นผู้จัดการ 

แล้วเราก็มีแต่ความทะยานอยากขึ้นไป แล้วเราก็ไม่ยอมกลับมาดูหน้าที่ที่เราควรทำน่ะเจ้าค่ะ

พระอาจารย์ –  อือ    


โยม (อีกคน)   ก็พอเอามาเปรียบเทียบกับทางโลกแล้วก็ใช่เลย ไอ้ความที่เราอยากๆ ...อยากที่จะให้คนอื่นยอมรับเราน่ะ     

พระอาจารย์ –  อยากดีอยากเด่น 

โยม (อีกคน)  เพียงแค่เรายอมรับว่า เฮ้ย ก็ชั้นพอใจแค่ชั้นได้ทำหน้าที่ชั้น ชั้นก็น่าจะพอแล้วล่ะ ...มันไม่พอไงเจ้าคะ มันก็เลยอยากเป็นผู้จัดการ อยากเป็นซีอีโอ

พระอาจารย์ –  ก็บอกแล้วไงบริษัทนี้ เขาไม่เคยบอกว่าเป็นของเรา ...บริษัทกายจำกัด บริษัทจิตจำกัด เขาเป็นมหาชน เขาเป็นของมหาชน ...โยมก็เป็นผู้ถือหุ้นแค่หนึ่งหุ้น แค่นั้นเอง แต่ไม่ใช่ของเรา 

เขาเป็นของสาธารณะ ของกลางน่ะ ...ก็ทำไม บทเขาจะล้มละลายขึ้นมานี่ เอาไม่อยู่หรอก ตายหมดไม่เหลือ ควบคุมไม่ได้ ...แค่หุ้นเดียวไปทำอะไรได้


โยม –  (หัวเราะ) ทำไม่ได้     

พระอาจารย์ –  พระพุทธเจ้าก็ให้มาเห็นตรงเนี้ย แล้วก็ยอมรับความเป็นจริงอันนี้ให้ได้ ...ไม่ได้ก็ต้องได้  

ดูเข้าไปจนกว่าจะยอมรับความจริงนี้ว่า มันไม่ใช่เรื่องของเราเลย ...แล้ว "เรา" ก็จะหมดความหมายไปเอง  เพราะไม่ใช่ "เรา" เข้าไปจัดการได้ 

มันเป็นของกลาง ...เกิดมานี่ กว่าจะมารู้ว่าเป็นผู้หญิงนี่กี่ขวบ  พอรู้แล้ว.. เลือกได้มั้ย เปลี่ยนได้มั้ย ...แล้วยังมาบอกว่าของเราได้ไง กำหนดเพศตัวเองยังไม่ได้เลย 

ก็ได้มาแล้วน่ะ...อ้าว กูเป็นผู้หญิงไปแล้วโว้ย ...อ้าว ทำไมกูเป็นผู้ชายวะเนี่ย  เห็นมั้ย เปลี่ยนได้ไหม ...นอกจากไม่ได้แล้วต้องอยู่กับมัน...จนกว่าบริษัทนี้ล้มละลายอ่ะ 

แล้วมาบอกว่าเป็นเจ้าของได้ยังไง  หน้าตาก็เป็นยังงี้ ผิวพรรณก็เป็นยังงี้   จะพอใจก็ตาม ไม่พอใจก็ตาม เปลี่ยนไม่ได้อ่ะ ...แล้วบอกเป็นของเรายังไง จะไปเป็นผู้จัดการอะไรกับมันล่ะ


โยม –  เป็นผู้จัดการ เป็นเจ้าของบริษัท เป็นเยอะด้วยเจ้าค่ะ (หัวเราะ)

พระอาจารย์ –  เออ นั่นแหละคือปัญหาของคนทั้งโลกน่ะ ...เพราะความเข้าใจผิด หรือว่ามิจฉาทิฏฐิ หรือความหลง เข้าใจมั้ย 

หลงเอาสิ่งที่ไม่เป็นของเรามาเป็นของเราน่ะ แล้วก็เอาของไม่ใช่ของเรานี่ไปทำเรื่องราวมากมายก่ายกอง พัวพันไปหมด วุ่นวี่วุ่นวาย แล้วก็ไปดึงเอาปัญหาต่างๆ นานา มาทับถม ...ก็เป็นเรื่องของเราไปหมด

หยุด...อยู่ในที่อันเดียว ที่รู้น่ะ ...หยุดอยู่ที่รู้นั่นแหละ  เข้าใจมั้ย  มันถึงจะหยุดได้  อะไรเกิดขึ้น...รู้ นี่มันหยุดแล้ว ...มีอะไรก็รู้ ๆ  รู้โง่ๆ 

ไม่ได้รู้อะไรหรอก รู้ในสิ่งที่ปรากฏอยู่ตรงหน้า นั่นแหละ รู้ไปเหอะ รู้โง่ๆ ...ไม่ต้องรู้เกินนี้หรอก

มันไม่ดีก็รู้ว่า เออ มันไม่ดี ไม่ต้องไปคิดต่อว่า ..จะดียังไงวะ อย่างเนี้ย ไอ้นี่รู้เกิน รู้เกินจริง เข้าใจมั้ย เข้าใจคำว่าเกินจริงมั้ย


โยม  เกินจริง

พระอาจารย์ –  เกินจริงในปัจจุบัน ...ถ้าออกนอกปัจจุบันเมื่อไหร่นี่ สับสนวุ่นวาย ลังเลสงสัย  ไม่รู้จักพอ ได้คืบเอาศอก ได้ศอกเอาวา ได้วาเอาโยชน์ ได้โยชน์เอาไม่รู้จักประมาณน่ะ 

ถ้าออกนอกรู้นี้ ปัจจุบันตรงนี้ มันไม่มีคำว่าหยุดหรอก ...ต้องตัดอกตัดใจ เด็ดเดี่ยวอยู่ในปัจจุบัน ตายเป็นตาย เข้าใจมั้ย มันจะแย่จะตายกับอารมณ์ตรงนี้ก็อยู่กับมัน

พระพุทธเจ้าบอกว่าทุกข์ให้กำหนดรู้น่ะ ท่านไม่ได้บอกให้แก้ ท่านไม่ได้บอกให้หนี ท่านไม่เคยบอกเลยนะว่าให้ดับทุกข์ ...ท่านบอกให้รู้ทุกข์ตามความเป็นจริง

ไอ้ที่ให้ดับน่ะไม่ยอมดับ...ตัณหา อุปาทาน...ไม่ดับ ความอยากกับความไม่อยาก  ยังไม่เคยเห็นเลย ...ถ้าเห็นหนูก็จะดับค่ะ แต่หนูไม่เห็นค่ะ


โยม – (หัวเราะ) ไม่เห็น ... มันอยู่ตลอดน่ะค่ะ  

พระอาจารย์ –  ก็เราไปใส่ใจอยู่กับมันนี่   

โยม –  ใช่เจ้าค่ะ ใส่ใจ 

พระอาจารย์ –  ไปวิ่ง ไปจริงจังกับมัน ในสิ่งที่มันไม่ใช่เป็นสิ่งที่น่าจะจริงจัง ...แต่ตอนนี้เรายังเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ

ดูไปดูมา ต่อไปก็จะเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่มีสาระ ...ใครจะว่าดูดี ใครจะว่าผิด ใครจะว่าถูก ใครจะว่าทำแล้วไม่ได้ผล 'เรื่องของกู..มึงเกี่ยวอะไร จิตของกู'  


โยม (อีกคน)   นี่ก็ได้ผลมาเยอะแล้วเจ้าค่ะ เจอภาพเขาตอนแรก (พูดถึงโยมที่ถามปัญหา โดยทำเสียงพูดช้าๆ เนิบนาบเป็นตัวอย่าง) 

"...สวัสดีค่ะ เชิญข้างในก่อน นั่งตรงนี้นะ น้องมีบทสวดมนต์...มีรึยัง" ...อย่างนี้เลยเจ้าค่ะ ...ไว้ผมยาว นุ่งผ้าซิ่นเรียบร้อย ใส่ที่คาดผม แล้วก็พูดอะไรช้าๆ 

ตั้งแต่โยมเอาซีดีพระอาจารย์ปราโมทย์ให้ฟัง มาอีกทีนึง แต่งหน้าแต่งตา อุ๊ย เริงร่าๆ ...เออ จำไม่ได้เลย ..หนูว่านี่เขาก็ดีขึ้นมาเยอะแล้วค่ะ ดูเป็นตัวเป็นตนขึ้นมาเยอะเลย   จริงๆ


โยม –  แต่มีปัญหาตรงอยากดี มันนึกไม่ถึง...มันลืมไป

พระอาจารย์ –  อัตตามันมีอยู่สามตัว  ตัวนึงคือตัวที่เราอยากจะเป็น..มีใช่มั้ย  ตัวที่สอง..ตัวที่คนอื่นเขาอยากให้เราเป็น (โยม – โอ ใช่) ...ตัวที่สามคือตัวที่เราเป็น..ตัวเป็นๆ ตัวตนจริงๆ น่ะ

เพราะนั้น เราจะใช้อยู่สองอัตตาแรก คือตัวที่เราอยากจะเป็น กับตัวที่เขาว่าน่าจะเป็น ...แต่ตัวตนจริงๆ น่ะ หนีลูกเดียว กูไม่ยอมรับ

สติจะต้องมาอยู่กับอัตตาตัวจริง คือตัวเป็นๆ น่ะ ตัวของเรานั่นแหละ เป็นยังไงก็เป็นยังงั้น ใครจะว่าดีก็เรื่องของคนว่า ใครเขาว่าไม่ดีก็เรื่องของคนว่า ...แต่เราเป็นยังไงคือเป็นยังงั้น ...และต้องรู้อยู่ตรงนั้นแหละ แก้ต้องแก้ตรงนั้น 

ไอ้อัตตาสองอัตตาแรกน่ะ มันจะพาให้ลุ่มหลงมัวเมา แล้วหาตัวตนที่แท้จริงไม่เจอ แล้วมันก็จะมาหลอกตัวเองอยู่ตลอดว่า "ตัวนี้ไม่ดีนะ ตัวเราไม่ดีนะ ตัวเราไม่ดีนะ"

ถ้าอยากจะแก้ตัวไม่ดี...ต้องอยู่กับตัวไม่ดีนั่นแหละ คือตัวจริง...ตัวตนที่แท้จริง ...ถ้าไม่ยอมรับตัวตนที่แท้จริง พยายามสร้างตัวอื่นมาทดแทนหรือมาปกปิดน่ะ มันก็เหมือนโง่ซ้ำซาก 

ตัวเองหลอกตัวเองไม่พอ ให้คนอื่นเขามาหลอกอีก เอาความเห็นอย่างนั้นมาหลอก เอาคัมภีร์นั้นมาหลอก เอาคำว่ากล่าวครูบาอาจารย์มาหลอก ก็กลัวไปหมด ไม่กล้าทำอะไร 

กลัวเปิดเผยตัวตนที่แท้จริง...ปกปิดตัวตนสุดฤทธิ์สุดเดช    .


 (ต่อแทร็ก 2/12)