วันพฤหัสบดีที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2557

แทร็ก 2/2



พระอาจารย์

2/2 (530701B)

(แทร็กชุดต่อเนื่อง)

1 กรกฎาคม 2553


โยม – เอ่อ ฟังหลวงพ่อพูดแล้ว หนูท่าจะอาการหนักเลยค่ะ  เพราะว่ากิเลสมันสะสมมาเยอะ  เรื่องความคิด ชำนาญมาก  คือทุกอย่างในชีวิตคือต้องคิด ทำงานก็คิด เรียนเมื่อก่อนก็คิด  มันก็เลยติดน่ะฮ่ะ ติดนิสัยคิด  รวมทั้งไปเพลิดเพลินกับความคิด หาประโยชน์จากความคิด ... เขาด่าเราอย่างนี้ๆ  มันคิดแล้วว่า...ก็คือชั้นจะต้องหาข้อบกพร่องมัน  อ้อ คิดออกแล้ว...มันพลาดตรงนี้ๆๆ  ทีนี้พอเราไปพูดทันมัน  มันก็หยุดไป มันคิดตามเราไม่ทัน   

พระอาจารย์ –  ได้ผล   


โยม –  รู้สึก โอ้โฮ ความคิดเรายอด    

พระอาจารย์ –  ภูมิใจ ภูมิใจในความฉลาดในการที่ด่าคนได้  


โยม –  ก็คือไม่ได้ด่าฮ่ะ  คือไปดักเค้า..ไปดักว่างี้ๆๆๆ  มันก็ ...อ้อ  แต่คือหนูก็รู้ว่ามัน..คือรู้แหละว่ามันไม่ดี...ความคิดไม่ดี  แต่ว่ามัน...สันดานน่ะฮ่ะ

พระอาจารย์ –  มันอดไม่ได้  


โยม –  มันเคยชินมากับความภาคภูมิใจในความคิดต่างๆ ...มันเร็วมากอย่างนี้ฮ่ะ

พระอาจารย์ –   อือๆ 


โยม –  แย่เลยอย่างนี้  

พระอาจารย์ –  ก็ยังดีที่รู้ เข้าใจมั้ย อย่างน้อยรู้ไว้อย่างนี้ รู้ว่าตัวเราน่ะเป็นอย่างนี้   


โยม –  รู้ตอนหลังที่มันจบไปแล้วน่ะฮ่ะ   

พระอาจารย์ –   ก็ยังรู้ไง...ว่าเราคุ้นเคยหรือเราเคยชิน หรือชอบในการกระทำอย่างนี้  ก็รู้ไว้  แล้วก็หาทาง...คือจะค่อยๆ ใช้กับมันน้อยลง ใช้กุศโลบายอย่างนี้น้อยลง  เพราะนั้นจดจำไว้ว่า ถึงเวลานั้นให้รู้ตัว  ให้รู้ ให้ทัน  แล้วพยายามหักห้ามกับมัน 

อย่า...อย่าใช้นิสัยเดิมๆ หรือว่าความเคยชินเดิมๆ ไปทำอาการเดิมๆ ขึ้นมา  มันเหมือนกับกิจวัตรของจิตที่เราเคยคุ้นเคย  เวลามันจะวาง มันจะละ  มันไม่ใช่ง่ายๆ หรอก  แต่เราก็ต้องคอยบอก คอยสอนมันว่า 'ไม่เอานะ อย่านะ'  ห้ามได้เท่าที่ห้าม วางได้เท่าที่วางไปก่อน 

แล้วมันจะค่อยๆ มีกำลังมากขึ้น ในการเลิก ละ หยุด  ไม่อาศัยความคิดเป็นกำลัง  จะรู้จักปล่อยวางเป็น  ... ตอนนี้มันยังวางไม่เป็น และไม่ยอมวาง

คือรู้ แต่รู้จำ  รู้ว่าวางการคิดน่ะมันดี  แต่ว่าพอไปปฏิบัติเข้าจริง มันไม่ยอมวาง ... ก็มันไม่ยอมวาง ดูยังไงก็ไม่วาง มันก็ยังอดคิดไม่ได้ ... แต่ให้รู้ไปอย่างนี้ เอาล่อเอาเถิดมันอย่างนี้  มันถึงจะค่อยๆ น้อยลงๆ 

มันไม่ใช่ว่าจะดับ หรือว่าหัก หรือว่าหยุดได้ในขณะเดียวหรอก  แต่มันจะค่อยๆ น้อยลงๆ  ใช้ความคิดน้อยลง ตามความคิดออกไปน้อยลงๆ  ถ้ามีอุบายลักษณะนี้ก็คือ...เวลาจะคิดทำอะไรปุ๊บนี่ เบี่ยงเบนความสนใจกับความคิดนั้น ให้มาอยู่ที่กายซะ มารู้ที่กายอ่ะ 

กลับมารู้ตัวที่กาย ยืน เดิน นั่ง นอน  ให้มันเลิกละความสนใจในความคิดนั้นออกไป  กลับมารู้กาย เดินไปก็ได้ ทำอะไรก็ได้  ให้มันมีการกระทำ แล้วจับความเคลื่อนไหว  ให้มันรู้ปัจจุบันของกายซะ มันจะละความสนใจในการไปคิดไปหาเหตุหาผล หาถูกหาผิด 

คนมันชอบหาถูกหาผิดอยู่แล้ว เป็นธรรมดา จริงๆ  ไม่ใช่โยมคนเดียวหรอก ทุกคนแหละ ปุถุชนทุกคนน่ะ  แต่ว่ามันแล้วแต่ว่าจะมากหรือจะน้อย อันนั้นเป็นนิสัยที่สร้างกันมานมนาน

ทำร้านขายยามันจะไปทะเลาะกับใคร ไม่ได้ทะเลาะกับลูกค้านี่ (หัวเราะ)


โยม –   มันก็มีบางอย่าง ... คล้ายมาทดสอบว่ากิเลสชั้นยังเยอะอยู่ ให้เรารู้ตัวอย่างนี้ฮ่ะ

พระอาจารย์ –  ดีแล้ว ก็มองให้เป็นอย่างนั้นไป  อย่าไปมองว่าเขามาเบียดเบียน  หรือว่าเขาเป็นอย่างนั้นเขาเป็นอย่างนี้  ยอมโดนด่าซะมั่ง ยอมให้เขามาล่วงล้ำก้ำเกินซะมั่ง มันจะได้เสียไป 


โยม –  มันเหมือนเราปกป้องอัตตาของเรา   

พระอาจารย์ – ใช่   


โยม –  เราก็เลยต้องคิดยังงี้ๆ ฮ่ะ   

พระอาจารย์ –   มันมีอาณาเขตน่ะ  บอกแล้วไงว่าเหมือนเด็กเล่นกันน่ะ เคยเห็นเด็กเล่นกันมั้ย สมัยเด็กๆ เล่นแล้วเอาตีนเหยียบเงากันน่ะ  


โยม –   เคยเล่น  

พระอาจารย์ –  เออ '..มึงอย่านะ อย่ามาเหยียบเงากู' มันไล่เหยียบเงากัน แล้วมันก็โกรธกัน เหมือนกันน่ะ  แต่ละคนมันจะมีอาณาเขตของตัวตน  ดูเหมือนว่าใครจะมาล่วงล้ำสิทธิของเราไม่ได้  

ก็ต้องยอม...ต้องยอม ยอมแพ้...ยอม  แล้วก็พยายามให้เท่าทันความคิด อย่าใช้ความคิดมาก  ความคิดน่ะมันจะเป็นเหมือนกับไฟที่มันเร่งให้น้ำเดือดน่ะ ... เดี๋ยวนี้เขามีเตาแก๊สแล้ว รู้จักหรี่เตาแก๊สลง  สมัยก่อนก็ต้องบอกว่าเอาฟืนออกบ้าง อย่าไปสุมฟืน  สมัยนี้ไม่ใช้ฟืน ก็หมุนเอาแก๊สให้มันอ่อนลงบ้าง กว่าน้ำจะเดือด  มันก็ใช้เวลานานหน่อย  

แต่ถ้าเราเร่งเข้าไป ๆ ใส่ไฟ โหมไฟ หมุนเข้าแบบ Highๆๆ Super high เข้าไป ...นั่นแหละ ความคิดมันจะเป็นตัวเร่งเร้าให้เกิดอารมณ์  แล้วมันเดือดขึ้น หรือว่าให้ได้ผลอย่างใดอย่างหนึ่งที่เราต้องการ แล้วพอได้ผลอย่างนั้นอย่างนี้ปั๊บแล้วทำออกไปนี่  มันเป็นการต่อเนื่องนะ ต่อเนื่องทางกาย วาจา จิต ออกไป ทั้งในแง่กุศลและอกุศล  มันจะไม่เป็นไปตามความเป็นจริง

แล้วเมื่อทำออกไปแล้วได้ผลยังไงขึ้นมา  มันจะเกิดความเป็นตัวเป็นตนขึ้นมามากขึ้น แล้วมันจะเกิดความเที่ยงมากขึ้น  ความรู้สึกว่าเราทำได้ นะ ตัวเราทำได้ คือสิ่งนี้เที่ยง  เพราะพอเราทำ เราคิดแล้ว มันออกมาได้ผลอย่างนี้พั้บนี่  มันเกิดความยึดมั่นในความถาวร หรือความเที่ยง หรือตัวตนที่เป็นนิจจัง แล้วเป็นสุขขัง แล้วก็เป็นอัตตา 

เห็นมั้ย มันเลยเป็นตัวที่ไปปิดบังอนัตตา ... อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ...ว่าถ้าเราไม่คิดไม่ทำแล้วก็ปล่อยให้มันเป็นไป เราก็จะเห็นทุกสิ่งทุกอย่างไม่ได้ดั่งใจเรา  ควบคุมไม่ได้ ไม่ได้อยู่ในอำนาจของเรา 

ให้มันเรียนรู้อนัตตา กับให้มันเรียนรู้ไตรลักษณ์โดยธรรมชาติไป  เพราะอะไร  เพราะบางความคิดน่ะ เราก็มักจะจดจำได้แต่ที่ไอ้คิดแล้วทำได้น่ะ  แต่ไอ้ความคิดแล้วทำไม่ได้ ไม่ค่อยจำน่ะ หรือคิดแล้วมันไม่ได้ดั่งที่เราต้องการ หรือที่เหตุการณ์ไม่ได้เป็นอย่างที่เราหวังนี่ ไม่ค่อยจดจำ  เข้าใจมั้ย 

มันจะจำแต่ไอ้ที่ได้ผล ทำแล้วได้  คิดวางแบบวางแผนระบบคำพูดแล้วได้ผล  มันก็เลยไปสนับสนุนซัพพอร์ทตัวตน หรืออัตตาของเรา หรือความเที่ยง  หรือว่าความที่ว่าเราควบคุมการกระทำ คำพูด แล้วได้ผลอย่างนี้ๆๆ ออกมา  มันยิ่งเกิดความหมายมั่นยึดมั่นมากขึ้น  แทนที่จะคลายออกจากความยึดมั่นถือมั่น มันกลับเป็นการสร้างความยึดมั่นถือมั่น  

เมื่อสร้างความยึดมั่นถือมั่นมากขึ้นเท่าไหร่  เวลามันไม่ได้ดั่งใจ หรือว่ามันไม่เป็นดั่งที่เราคิดปั๊บนี่  มันจะตีกลับออกมาเป็นอารมณ์ที่เป็นปฏิฆะแรง  หงุดหงิด รำคาญ ไม่พอใจอย่างแรงกว่าเดิม  เข้าใจมั้ย  มันจะแสดงเป็นอาการเอาแต่ใจตัวเอง เอาแต่อารมณ์ แล้วก็พาล อะไรเหล่านั้นไป

พูดมาทั้งหมดนี่ไม่ใช่อะไร  เพื่อให้เห็นว่ามันเป็นยังไง กระบวนการของมัน  ... ส่วนจะทำไม่ทำ จะเอาไม่เอา  อันนี้มันบอกกันไม่ได้ เข้าใจมั้ย  มันต้องไปทำกันเอาเองน่ะ  แล้วก็เลือกว่าจะเป็นอย่างนี้ต่อไปเหรอ  

หรือว่าจะเปลี่ยนวิถีของมัน เรียนรู้ให้เกิดปัญญาขึ้น  เพื่อจะอยู่กับโลก อยู่กับเหตุการณ์ โดยเป็นปกติธรรมดา  แล้วก็เป็นไปถึงที่สุดคือความละวางจางคลาย แล้วก็เป็นไปเพื่อความไม่กลับมาเกิดอีก

กับการที่ปล่อยให้มันเป็นไปอย่างนี้  ผลลัพธ์ก็เหมือนกับไอ้ที่อยู่ทั่วโลกนี่แหละ ตาย-เกิดๆ  มาเอาคืน ทีใครทีมัน  มาตามด่า ตามคิดหาวิธีด่าที่จะเอาชนะกันต่อไปข้างหน้า ต่อไปไม่รู้จักจบสิ้น  ให้จำไว้เลยว่าผลลัพธ์น่ะมันเป็นอย่างนี้

แต่ถ้าผลลัพธ์เป็นการเจริญสติรู้เท่าทัน มันก็จะวางความคิด...มันจะเป็นอย่างนี้  แล้วก็ไปทำกันเอาเอง ...สร้างศรัทธาขึ้นมาเยอะๆ เชื่อขึ้นมาเยอะๆ ในวิถีแห่งการปฏิบัติว่ามันจะได้ผลอย่างนี้  แล้วมันจึงจะขยันหมั่นเพียร  ... อย่ามาบอกว่ายาก อย่ามาบอกว่าทำไม่ได้ อย่ามาบอกว่านิสัยมันเป็นอย่างนี้  ... ถ้าตั้งใจแล้ว ไม่มีอะไรทำไม่ได้  

สติน่ะ รู้เข้าไป มันจะปรับให้เอง วางให้เอง  อย่าปล่อยปละละเลย อย่าขี้เกียจ  ให้เข้าใจว่าสติ...การที่กลับมาระลึกรู้นี่  มันเป็นการทวนกระแส เข้าใจมั้ย  เหมือนพายเรือ ไม่ได้ตามน้ำ  แต่พายเรือทวนน้ำน่ะ  มันก็ลำบากหน่อยในการทวน  แต่ถ้าพอไม่ทวนปุ๊บ ปล่อยให้มันไหลตามกระแส เราจะรู้สึกสบายเพลิดเพลินง่ายๆ อย่างนี้ เข้าใจมั้ย  คือปล่อยปละละเลยน่ะคือการตามกระแสออกไป 

คนเราทั่วไปมันคุ้นเคยกับการที่ตามกระแสอยู่ตลอด เพราะมันไม่ต้องทำอะไร ไป...ล่องลอยแล้วแต่มันจะไป ไปไหนก็ไปกับมัน  อยากคิดก็คิด อยากนึกก็นึก อยากทำอะไรก็ทำ  อยากทำอะไรตามอารมณ์ก็ทำ อยากจะพูดอะไรไม่ต้องคิดไม่ต้องกังวลอะไร  มันก็ปล่อยไปตามสบาย มันก็เหมือนกับตามกระแสออกไปเรื่อย

แต่พอมาตั้งสติปุ๊บ  พอตั้งสติ ระลึกรู้ ปุ๊บ มันจะไป...ไม่ไป  นี่ทวนแล้วนะ  เราไม่ได้พายทวนหรอก แค่มันจะไปแล้วเราไม่ไป นี่คือทวนแล้ว ถือว่าเป็นการทวนกระแส อย่างน้อยมันไม่ไปตาม  หรือว่ารู้ปุ๊บ มันหยุดไปขณะนี้ปุ๊บ อ่ะ แล้วก็สติยังอ่อนปัญญายังอ่อน ก็อดคล้อยตามมันไม่ได้ ไหลออกไปตามความคิดตามอารมณ์ 

พอไปรู้อีก ก็หยุดอีก  เนี่ย เข้าใจมั้ย อยู่อย่างนี้  ต้องขยันหน่อย  เพราะว่าอาการที่หยุดแล้วไม่ตามกระแสนี่ มันจะฝืด มันจะหนัก มันจะคล้ายๆ กับว่าทุกข์ กังวล อึดอัด อย่างนี้  นั่นน่ะคืออาการของการทวนกระแสกลับ  ไม่ตามอารมณ์ ไม่ตามความคิด ไม่ตามคำพูด ไม่ตามการกระทำ 

คืออย่างน้อยพูดออกไปก็รู้...ก็ยังดี  ทันตอนกำลังพูดก็ดี ทันตอนพูดเสร็จก็ดี ทันตอนพูดไปแล้วสักพักก็ยังดีกว่าไม่รู้อ่ะ เข้าใจมั้ย  คือยังไงๆ น่ะ อย่าไปคิดว่า...พอฟังแล้วจะต้องเอาผลเลิศ จะต้องรู้ก่อนพูด ต้องรู้แล้วไม่พูด  มันไปทันตอนไหนก็ยังดีอ่ะ ถือว่าดีหมดแหละ..ถ้ารู้  

ไอ้ที่ไม่ดีเลยคือ ไม่รู้อะไรเลย เข้าใจมั้ย  ปล่อยหายไปข้ามวันข้ามคืน ข้ามเดือน เดือนนึงถึงจำได้ 'เอ๊อะ กูเพิ่งไปด่าเขามา' เนี่ย (โยมหัวเราะ) ... ไอ้อย่างนี้ตายแล้ว มันไม่ได้ประโยชน์เลย เข้าใจมั้ย

คือพยายามให้มันกระชับ  ในระหว่างที่พอมีสติมากๆ นี่...ก่อนพูดก็รู้ กำลังพูดก็รู้ พูดจบก็รู้  มันจะเป็นอย่างนั้น  ตอนนี้... ก่อนพูดไม่รู้ ระหว่างพูดก็ไม่รู้ จบแล้วก็ไม่รู้  จบไปอีกสักพักถึงรู้...ก็ยังดี เข้าใจมั้ย  แล้วมันจะกระชับขึ้นมา  

แต่ว่ามันต้องอาศัยความเพียร  รู้เข้าไปเรื่อยๆ รู้เข้าไป รู้ตอนไหนก็ได้ไม่ว่ากัน  อย่าไปตั้งหวังว่ารู้แล้วต้องอยู่ตรงนี้ รู้แล้วต้องก่อนคำพูด ก่อนความคิด รู้แล้วความคิดจะหยุด รู้แล้วความคิดจะน้อยลง  รู้ยังไงก็รู้เข้าไป ขอให้รู้เข้าไปเถอะ

อย่าทิ้งรู้ อย่าทิ้งตัวรู้ อย่าทิ้งสติการระลึกรู้  รู้เข้าไปเถอะ  สติมันก็จะพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ เรื่อยๆ  แต่ถ้าเรารู้นิดๆ หน่อยๆ แล้วก็ทิ้งไป ... รู้นิดๆ หน่อยๆ แล้วก็ทิ้งไป  ขี้เกียจรู้ ขี้เกียจระลึกรู้  มันไม่มีทางพัฒนาขึ้นมาหรอก  มันก็เป็นอีหรอบเก่า  สุดท้ายมันก็ขี้เกียจ ขี้คร้าน โลเล ไหลไปตามกระแส 

แล้วก็กระแสพวกนี้  ยิ่งไหลออกไป มันก็ยิ่งเป็นเหมือนน้ำ...น้ำที่ลงจากที่สูงน่ะ  แรกๆ ตอนจะลงน่ะมันไม่แรงหรอก  พอลงไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ  มันจะแรงขึ้นๆ มาเรื่อยๆ  พอถึงวาระนั้นน่ะ  จะทวนกระแสนี่ไม่ไหวแล้ว

ดาบจะถึงคอคนนี่  จะดึงกลับนี่มันยากแล้ว เข้าใจมั้ย   แต่ถ้าดาบที่กำลังชักออกจากฝัก  เออ ยังระงับแล้วง่าย ยังเท่าทันที่จะไม่ฆ่า  แต่ถ้าได้ออกแรงฟันจนสุดลิ่มทิ่มแรงแล้วนี่  จะไปหยุดตอนนั้นน่ะ หรือว่าชะงักตอนนั้นน่ะ  แรงหรือเจตนาของเราที่โถมฟาดฟันลงไปเต็มแรงแล้วนี่ มันถอนกลับไม่ได้แล้ว 

มันต้องเสวยแล้ว เข้าไปเสวยเต็มๆ แล้ว  ฆ่าก็ฆ่าแล้ว เป็นกุศลก็เป็นแล้ว เป็นอกุศลก็เป็นแล้ว  พอเป็นขึ้นมาปั๊บก็เสวยแล้ว ต้องเสวยผลกรรมหรือวิบากแล้ว

พอเสวยผลวิบากแล้ว  อย่าโทษนะ อย่าโทษคนอื่นนะ อย่าไปโทษฟ้าโทษฝน อย่าไปโทษคนนั้นคนนี้นะ   เพราะเรานั่นแหละ ตามกระแสจนไปเกิด..ก่อเกิดเป็นภพเป็นชาติ จนเป็นผลออกมาแล้ว เป็นวิบากกลับคืน ...ต้องชดใช้แล้ว  

ตอนนั้นน่ะ ตอนที่เราก้มหน้าก้มตาชดใช้นั่นแหละ  มันจะดึงให้เราจมลงไปอีก ถ้าไม่มีปัญญานะ  มันจะหาทางแก้แบบงี่เง่า หาทางแก้แบบไปเรื่อยเปื่อยอ่ะ ทำอะไรก็ทำไปเรื่อยเปื่อยเลยแหละ  เวลาเจออาการที่มันจมอยู่ในเหตุแห่งทุกข์ หรือว่าผลแห่งทุกข์ที่กระทำมา ทั้งจากคนอื่นหรือโดยเราเองก็ตาม  เวลาเข้าเสวยวิบากแล้ว มันจะเข้าไปในวังวนของวัฏฏะเลยแหละ จมปลักโงหัวไม่ขึ้น...เป็นอย่างนั้น

แต่ถ้าเรารู้จักเท่าทัน คอยมีสติ เจริญสติบ่อยๆ ... แค่จะเริ่มกระทำ แค่ทำไปนิดๆ หน่อยๆ  พอรู้ปั๊บมันจะสามารถที่จะวาง คลาย จางได้  ต้องฝึก..ฝึกรู้บ่อยๆ  อย่าประมาทความรู้ การระลึกรู้  ว่ารู้แค่นี้จะได้อะไร  หรือว่าตอนนี้ยังไม่ใช่เวลา รอให้แก่กว่านี้หน่อย ให้มีอายุกว่านี้หน่อย ให้งานมันเบากว่านี้หน่อย ให้เรามีโอกาสเป็นตัวของตัวเองมั่ง ... อย่ามาอ้าง อันนั้นเป็นข้ออ้าง 

ตรงไหนก็ได้ รู้ได้ตลอด  ยืนอยู่หน้าเคาน์เตอร์ ยืนอยู่หน้าเก้าอี้ตัดผม  มันที่ไหนก็ได้ แค่รู้นี่มันรู้ได้หมดน่ะ ไม่จำเป็นต้องอาศัยสถานที่ บุคคลใดๆ เลย  อยู่ที่ความตั้งใจในปัจจุบันนั้น...ขณะนั้นเอง  ถ้ามีความตั้งใจบ่อยๆ ใส่ใจบ่อยๆ ในการที่จะกลับมาดูกายดูจิตของเรา 

แล้วมันจะสร้างนิสัยใหม่ขึ้นมา  ไม่ปล่อยปละละเลย  ความเผลอความเพลินก็จะน้อยลง  มันก็จะอยู่กับกายกับจิต  ทำอะไรปั๊บมันจะกลับมาดู ทำอะไรปั๊บกลับมาดู ได้ยินอะไรปั๊บกลับมาดู เห็นการกระทำอะไรกลับมาดู  ยินดีมั้ยยินร้ายมั้ย  

ไม่มีอะไรทำก็กลับมาดู  เห็นกายเป็นยังไง จิตเป็นยังไง  อยู่กับความคิดมั้ย อยู่กับความจำมั้ย  หรือว่าอยู่ในอาการไหน เศร้า หมอง ขุ่น มัว  หรือผ่องใส หรือดีใจ หรือเสียใจ  เวลาไม่มีอะไรก็กลับมาดู อาการของเราเป็นยังไงขณะนี้  อยู่ในอาการไหน อยู่ในอารมณ์ไหน  กลับมาอยู่กับมันอย่างนี้ ไม่มีอะไรทำก็กลับมา 

ไม่มีอะไรทำก็กลับมาดูกายดูใจ  ปัญญามันก็จะพอกพูนขึ้น สติมันก็จะฉับไว ไหวพริบว่องไว คล่องแคล่ว  เท่าทันทุกอาการ ที่ขยับไปขยับมา  พอมันทันในอาการแรกที่มันขยับพั้บๆๆ  ไม่ต้องถามเลยว่าทุกข์มันจะเกิดได้ยังไง จะไปละทุกข์ที่ไหน จะไปดับทุกข์ยังไง จะอยู่เหนือทุกข์มันได้ยังไง  ถ้าถึงอาการที่มันพั้บๆๆ ตอนจะไปจะมานี่

แต่ไอ้พวกเรานี่ มันไปจน หูย นู่นนนนนนน  อ้าว ทุกข์ ... เพิ่งรู้นะเนี่ยว่าทุกข์ (โยมหัวเราะ) ..เข้าใจมั้ย 
 พอรู้แล้วก็ '..จะแก้ยังไงๆ ..ทำไมถึงทุกข์ ..ทุกข์จะออกจากมันยังไง' ... ก็มันโง่มั้ยเนี่ย ปล่อยให้มันหลงมาจนขนาดนี้แล้วนี่  จะบอกว่าจะแก้ยังไง...มันมีอย่างเดียว คือต้องรับผลอย่างเดียว คือเฉยๆ กับมันซะ

โง่เอง หลงเอง สร้างเหตุเอง  ก็รับผลเอง จะไปโทษใคร หา ... พอถึงตอนนี้ เอาแล้ว จะไม่รับผลแล้ว จะหาช่องทางลัดแต่พอตัว  วิ่งหาครูบาอาจารย์เพื่อ '..มันมีวิธีแก้ยังไงถึงจะเร็วคะ อุบายยังไงถึงจะพอนึกดูปั๊บหายปุ๊บ'  ก็บอก 'มี ...คุณต้องเห็นตรงนี้ๆ ขยับๆ ตรงนี้ แล้วตรงนี้แข็ง' เห็นปุ๊บหายปั๊บ  แต่ถ้ายัง 'หู้ย นู่น เพิ่งรู้' ...ตาย 

มันไม่หายไปไหนหรอก วิบากนี่ ...ต้องชดใช้ ต้องเสวยกับทุกข์เท่าที่คุณปล่อยออกมา


โยม –  พอชดใช้แล้วมันก็หาย   

พระอาจารย์ –  มันก็หายเองน่ะ  ชดใช้ด้วยการยอมรับเฉยๆ ทำจิตเฉยๆ  ตรงนั้นน่ะ เขาเรียกว่าเสวยวิบากเต็มๆ  เพราะนั้นระหว่างชดใช้นี่ทุกข์ ทุกข์ข้ามวันข้ามคืนก็ต้องทุกข์ ข้ามเดือนข้ามปีก็ต้องทุกข์ ก็ต้องอดทนเลยน่ะ  ไม่แก้ ...รับ ก้มหน้ารับโดยดุษฎีเลย 

เพราะทุกข์นี้เป็นผลของการกระทำของเรา ที่หลง ไม่รู้เนื้อรู้ตัว  สร้างอิมเมจต่างๆ นานา แล้วก็ทำไปตามความหลงนั้นๆ นั้นๆ ด้วยการพูดและการกระทำออกไป  เวลามันส่งผลคืนมาปั๊บเป็นทุกข์แล้วนี่ มันรวมยอดเลยแหละ บอกให้เลย

เพราะนั้นไม่มีวิธีแก้กรรม ไม่มีวีธีหนีกรรม ไม่มีวิธีหนีทุกข์  พระพุทธเจ้าไม่เคยสอนให้หนีทุกข์เลย  ...ท่านบอกว่าทุกข์ต้องกำหนดรู้  

ไอ้ที่ท่านให้แก้ ไอ้ที่ท่านให้ดับ คือสมุทัย คือตัณหา ความอยากและไม่อยาก  ถ้ารู้เมื่อไหร่เห็นเมื่อไหร่นี่ ไม่ต้องลังเลสงสัยเลย แล้วไม่ต้องเสียดาย  ดับได้ ตัดได้ วางได้ หยุดได้ ห้ามได้ ไม่ต้องไปยุ่งกับมันได้ ไม่ต้องให้มันมีอำนาจเหนือเราได้...ทำทันที 

อย่าเสียดายความอยาก อย่าเสียดายความไม่อยาก  ไม่ว่ามันจะอยากดีอยากไม่ดี ไม่อยากดี ไม่อยากไม่ดีก็ตาม  ถ้าขึ้นมารู้ว่าเป็นความอยากแล้ว ท่านให้ทิ้งได้เลย ดับได้เลย  แต่ส่วนมากเราไม่ค่อยกล้าดับในบางตัว  มันจะมีข้ออ้างต่างๆ นานา 

เห็นมั้ย เวลามีความอยากขึ้น มันจะมีความคิดแทรกขึ้นมา '..จะต้องอย่างนั้นนะ ..ถ้าเราได้อย่างนี้ มันจะต้องเป็นอย่างนั้น ฯลฯ'  มันจะสนับสนุนให้ความอยากเป็นไปให้ได้  แต่ถ้ารู้แล้ว ปัญญากล้าแล้วนี่ แค่ขยับออกมาเป็นความอยากแล้วหมายมั่นว่าเล็งผลยังไงๆ ปั๊บ  มันวางเลย ตัดเลย ละเลย  เพราะรู้เลยว่า เนี่ย ทำตามความอยากเมื่อไหร่ ผลของมันคือทุกข์

ผลของทุกข์  ทุกข์ในความหมายของท่านนี่ ไม่ได้หมายความแค่ว่าทุกข์ในแง่ของคำว่าเดือดเนื้อร้อนใจ...แต่ในความหมายของสุขด้วย  สุขก็คือทุกข์อันนึง ...มันทุกข์ยังไง  ทุกข์เพราะมันไม่เที่ยง ได้มา เสวยความสุขแล้ว ... สุขอันนี้น่ะมันอยู่...สักปีนึงอย่างนี้ มันจะอยู่ให้มั้ย  

นี่ เห็นมั้ย  สุดท้ายมันก็ต้องดับไปน่ะ  นั่นแหละคืออาการนึงของทุกข์แล้ว  เพราะมันคือความหมายมั่น  เพราะฉะนั้นทำตามความอยาก เบื้องท้ายที่สุดน่ะมันได้ผลเป็นทุกข์ คือความไม่เที่ยง ความหมดสิ้นไป ความไม่สามารถจะรักษาอยู่ได้

แต่ตอนนี้ ... เอาแค่ชนะความคิดก่อน ไม่ตามความคิดก่อน  แล้วก็กลับมารู้ตัวบ่อยๆ ไม่รู้ใจก็รู้กาย  ทั้งวันไม่ต้องดูใจเลยก็ได้ ให้ดูกาย  เอาอย่างนี้ ไม่ยากดี  ดูอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน  ไม่ก็ท่องเอาไว้ 'กำลังทำอะไรอยู่ ๆ'  กลับมาดู...กำลังทำอะไรอยู่ ตอนนี้กำลังทำอะไรอยู่...ดู เห็นมั้ย 

แล้วก็กลับมาดูกำลังทำอะไรอยู่ นั่ง นอน ยืน ยิ้ม หัวเราะ ดีใจ เสียใจ กังวล วิตก  นั่น กลับมารู้  ท่องไว้..'กำลังทำอะไรอยู่ ๆ'  กำลังด่าก็รู้ได้...กำลังทำอะไรอยู่วะ...กำลังด่ามัน นี่ก็รู้  กำลังหงุดหงิดก็รู้ กำลังทำอะไรอยู่ จิตกำลังเป็นยังไง กายกำลังเป็นยังไง กลับมาดู  เพื่ออะไร  นี่เป็นอุบายเพื่อให้กลับมาเห็นกายใจปัจจุบัน  อย่าให้มันเผลอเพลิน

ปัญหาใหญ่คือการเผลอเพลิน ไม่ใส่ใจดู ไม่ตั้งใจดู  ชอบไปดูคนอื่น ชอบไปอยู่กับลูกค้า ...อะไรประมาณนั้น  ลูกค้าก็จู้จี้จุกจิกจะเอานั่นจะเอานี่ 

(โยม – ใช่ค่ะ) 

ก็ฟังด้วยอาการสงบ ยอมรับ  ... แก้เขาไม่ได้ ห้ามปากเขาไม่ได้ เอามือไปปิดปากเขาก็ไม่ได้ ... แต่ใจเราปิดได้ ใจเราเท่าทันใจได้  พยายามเปิดให้กว้าง ยอมรับให้ได้ทุกเรื่อง  อย่าให้มีเงื่อนไขอะไร อย่าให้มีอะไรเป็นเงื่อนไขกับเรา  เขาสามารถให้เงื่อนไขกับเราได้ แต่เราไม่ต้องไปมีเงื่อนไขกับเขา  คือเปิดโอกาสเต็มที่ เปิดออกไป แล้วก็กลับมารับรู้ที่ใจ...ละอยู่ที่ใจ

แล้วทุกอย่างมันจะเป็นไปโดยธรรมชาติ  เราจะเห็นธรรมชาติของสัตว์และมนุษย์มันเป็นไปอย่างนี้ แล้วมันก็ต้องอยู่อย่างนี้  เราตายไปแล้วเขาก็ยังเป็นอย่างนี้ เราเกิดมาใหม่เราก็จะต้องเจออาการอย่างนี้  ไม่มีทางเลยที่ไม่เจออาการเช่นนี้  อย่าคิดว่ามันจะมีอะไรดีกว่านี้ หรือเหนือกว่านี้ หรือว่าอาการพวกนี้จะหมดไป ... ไม่หมดหรอก

นี่คือโลก ... ความเป็นจริงของโลกเขาเป็นอย่างเนี้ย  เราก็ต้องมาเข้าใจและเท่าทันความเป็นจริงของโลก แล้วก็ยอมรับมันให้ได้ แค่นี้เอง  ปัญหาทุกอย่างหมดเลย มันหมดตรงนี้  เพราะเราไม่เห็นว่ามันถูกหรือผิดกับไอ้อาการทางโลกนี่ 

ตราบใดที่มนุษย์ยังมีกิเลส มันก็มีอย่างเนี้ย  ตราบเท่าที่ยังมีคนเกิดตาย...มีคนเกิดคนตาย  เราตายไปแล้ว ไอ้คนคนนี้ก็ยังอยู่ แล้วเขาก็แสดงอาการอย่างนี้ๆๆ  เหมือนกันน่ะ มันไม่หายไปไหนหรอก  

เพราะนั้น เราก็ให้ทิ้งอาการพวกนี้ไว้อยู่ในโลก เราไม่ต้องเก็บเอาไปด้วย ไม่ต้องจดจำเลยด้วยซ้ำ ไม่ต้องมาเป็นวิตกกังวลกับอาการที่มันเกิดๆ ดับๆ ของมันอย่างนั้น

เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้มานี่ ... สอนคนมาสี่สิบห้าปี  ท่านบอกว่าท่านมองไปด้วยสัพพัญญุตญาณ ... ญาณที่ท่านมองออกไปนี่  ในจักรวาล ในอนันตาจักรวาล ทุกที่ที่ท่านมองไปนี่  ท่านบอกว่าท่านไม่เห็นอะไรเลย...นอกจากทุกข์เกิดขึ้น กับทุกข์นั้นดับไป  ท่านบอกว่าท่านเห็นแค่นี้จริงๆ

แล้วเราจะหาอะไรกันอยู่ เนี่ย เข้าใจมั้ย  เราจะหนีอะไรล่ะ  ตราบใด...ท่านบอกว่าทั่วอนันตาจักรวาล อนันตมหาจักรวาลนี่ ท่านไม่เห็นอะไรเลย นอกจากทุกข์เกิดขึ้นกับทุกข์ดับไป  เพราะฉะนั้นที่เราตั้งค่าเอาไว้ว่าจะได้สุข ได้ความสงบ ได้ความเป็นตัวของเรา...ไม่มีอ่ะ  มันมีแต่ทุกข์กับทุกข์กับทุกข์...แต่ทุกข์นั้นเกิดขึ้นแล้วดับไป แค่นั้นเอง  

เพราะนั้นก็คลายออกจากการที่ว่าต้องได้อะไร ต้องมีอะไร และต้องเป็นอะไร  ไม่มีอะไรเป็นอะไร ... มีแต่ว่ามาเห็นทุกข์ตามความเป็นจริง แล้วก็เห็นทุกข์ดับไปตามความเป็นจริง แล้วก็ทุกข์ก็เกิดขึ้นมาใหม่ อยู่อย่างนี้  

ไม่ใช่เรื่องของเราเลย ... เป็นเรื่องของเขา เป็นเรื่องของโลก เป็นเรื่องของสรรพสิ่งทั้งหลายนี้  มันอยู่ได้โดยความเป็นไตรลักษณ์  ไม่มีอะไรคงอยู่ สุขก็ไม่คงอยู่ ทุกข์ก็ไม่คงอยู่  แต่มันแปรเปลี่ยนไปอย่างนี้ ...อาการทั้งหมดนี่ท่านเรียกว่าทุกข์ตามความเป็นจริง

อย่าหนีความจริง อย่าหาความจริงใหม่ อย่าแก้ความเป็นจริง ...แก้ไม่ได้ หนีไม่ได้ ... ยอมรับกับมัน  ตั้งมั่น ตั้งหลักอยู่กับกายจิตของเรา แล้วก็ยอมรับมันให้ได้  อย่าไปแก้ อย่าไปหนี  ไม่งั้นจะไม่เห็นความเป็นจริงถึงที่สุด 

เพราะความเป็นจริงถึงที่สุด คือ ต้องเห็นว่าทุกข์เกิดขึ้นแล้วดับไปเองเป็นธรรมดา  สังขารทั้งหลายทั้งปวงเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไปเป็นธรรมดา  ไม่มีประหลาดกว่านี้หรอก ไม่มีอะไรวิเศษกว่านี้หรอก ... 

การเห็นธรรมก็คือเห็นแค่นี้  ... เห็นแล้วก็ยอมรับว่าสังขารทั้งหลายทั้งปวง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไปเป็นธรรมดา  ... ไม่มีใครทำให้เกิด ไม่มีใครทำให้ตั้งอยู่ แล้วไม่มีใครทำให้ดับได้

แต่ตอนนี้เราคิดว่าเราทำให้เกิดได้ เราทำให้ตั้งได้  หรือเราทำให้มันไม่เกิดได้ หรือเราทำให้มันดับได้ เนี่ย โง่ เขาเรียกว่าอวิชชา มิจฉาทิฏฐิ  มันถึงเกิดมาเพื่อเอาชนะโลกอยู่ตลอดเวลา ไม่รู้จักจบสิ้น...เพราะโง่ ไม่เห็นความเป็นจริง ไม่ยอมรับความเป็นจริง 

คิดว่ามันทำได้ '..กูทำได้ว่ะ..กูทำให้ตั้งอยู่ก็ได้..กูทำให้ไม่เกิดก็ได้..กูทำให้ดับก็ได้ ทำให้ดับเดี๋ยวนี้ หรือทำให้ตั้งนานๆ ก็ได้'  มันคิดเอาเองทั้งนั้นน่ะ  แล้วมันก็เอามาเพื่อจะเอาชนะ  เมื่อไม่ได้ดังนี้ เมื่อไม่ได้เดี๋ยวนี้ ก็มาทำวันหน้า  เมื่อมาทำวันหน้าไม่ได้ มันก็มาทำเดือนหน้า ทำเดือนหน้าไม่ได้ก็ทำปีหน้า ทำปีหน้าไม่ได้ ก็ไปทำหลายๆ ปีข้างหน้า ทำหลายๆ ปีข้างหน้าไม่ได้...ตายแล้ว ชาติหน้ากูก็มาทำใหม่ 

เห็นมั้ย นี่คือเป็นปัจจัยให้เกิดการต่อเนื่องไม่รู้จักจบสิ้น  เพราะโง่ซ้ำซาก โง่แบบไม่มีปี่มีขลุ่ยน่ะ โง่แบบไม่มีเหตุไม่มีผลน่ะ  มันโง่อย่างนั้นนะจิตน่ะ  แต่เราเออออห่อหมก ยอมรับว่าฉลาดกันจัง (โยมหัวเราะกัน) ....'ใครไม่คิดอย่างนี้ โง่ว่ะ ใครไม่รู้จักพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น หรือรักษาทรัพย์สินให้คงอยู่ให้นานที่สุด หรือว่าตำแหน่งหน้าที่การงานให้ดี นี่โง่ว่ะ อยู่กับเขาไม่ได้'  

แล้วพวกเราก็รับกับกระแสที่เขาเสียดทานอย่างนี้ไม่ได้  เราก็เลยต้องร่วมหัวจมท้ายโง่ด้วยกัน  พากันโง่ทั้งโลก  โลกทั้งโลกน่ะโง่ทั้งโลก  แต่มันคิดว่ามันฉลาด แล้วมันก็แต่งศาสตร์ทั้งหลายแห่งการฉ้อฉลกลโกง แต่งศาสตร์เพื่อจะให้รักษาอำนาจหน้าที่การงานการเงินให้มันอยู่ถาวรที่สุด แล้วก็เรียนรู้ว่า 'เออ ใครทำได้ก็ยกย่องเชิดชูว่าเก่งว่าดี แล้วก็ทำตามกัน' ...เพื่อเอาชนะอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

ถ้าไม่ได้ก็ชาติหน้า ..ไปไหว้พระสวดมนต์ก็ '..ชาติหน้าขอให้รวย ชาติหน้าก็ขอให้มีคู่ดีๆ ชาติหน้าก็ขอให้การงานดีๆ ชาติหน้าก็ขอให้...' ขอๆๆๆ  ตายแล้วก็เกิดใหม่ แล้วก็มาขออีก ..แล้วก็มาขออีก  ไม่รู้กี่ชาติแล้ว ... ระพุทธเจ้าท่านบอกว่าแต่ละคนนี่ไม่ต้องถามภพถามชาติเลย ... อเนกชาติ ...ยังไม่เข็ดเลย

นี่ ยังไม่เข็ด ... ยังจะมาคิดนั่งด่านั่งเอาชนะอยู่ '..กูจะเอายังไง'  หาทางต่อเนื่องน่ะ หาทางไม่รู้จักจบสิ้น  พอบอกให้หยุดๆ ให้อยู่นี่ ดิ้นๆๆๆ '..เอามันให้ได้ กูต้องเอาคืน ไม่ได้..มันทำอย่างนี้เราแย่แล้ว ต่อไปเดี๋ยวมันจะทำกับเรามากกว่านี้ ทำกับเรายิ่งกว่านี้ เดี๋ยวครั้งหน้ามันจะนั่นจะนี่..'  เอาแล้ว ...จะสนับสนุนให้มันโง่ขึ้น หรือจะสนับสนุนให้โง่น้อยลง

เพราะนั้น การจะกลับมาที่ต้นตอของความโง่  ต้องมาเห็น “ไอ้โคตรโง่”  คือใจ ใจที่ไม่รู้อะไรนั่นแหละ  ใจเฉยๆ นั่นแหละ ใจที่รู้เฉยๆ ไม่รู้อะไร  นั่นแหละ ไอ้ตัวนั้นน่ะโคตรโง่  ต้นตอของโคตรโง่หรืออวิชชา ก็อยู่ตรงนั้น  ต้องมาอยู่กับมัน  เห็นมัน  แล้วจึงจะเกิดวิชชาขึ้นมา 

คือความรู้จริงด้วยญาณ ด้วยทัสสนะ ด้วยปัญญา  มันถึงจะเข้าไปทำลายความโง่ที่ไม่มีเหตุมีผล  จิตนี่โง่แบบไม่มีเหตุมีผล มันโง่แบบเกิดมาโง่เลย เกิดมาโง่ ทำไปด้วยความโง่  มันไม่รู้ตัวเลยว่ามันโง่ เข้าใจมั้ย เขาเรียกว่าโง่แบบไม่มีเหตุไม่มีผล  มันเป็นอนุสัยหรืออาสวะที่สะสมมาภายในใจของเรา

ธรรมดาใจของเรานี่ ธรรมชาติของใจบริสุทธิ์อยู่แล้ว ประภัสสรอยู่แล้ว  แต่ถูกความโง่ความไม่รู้นี่แหละ เข้ามาปิดบังครอบงำเจือปนแฝงอยู่  และเราใช้มันเป็นตัวพาเกิด พาตาย พาพูด พาทำ พาคิด  มันออกมาจากความไม่รู้ภายในทั้งสิ้น 

ต้องกลับมารู้โง่ๆ ก่อน  ถึงจะเห็นตัวต้นตอของความโง่ คืออวิชชา  แล้วเห็นด้วยปัญญาเท่าทันมัน เท่าทันความโง่ที่มันออกมา แสดงอาการออกมา  มันออกมาด้วยพร้อมกับความโง่ทั้งสิ้น  บอกให้เลย อย่าคิดว่าเก่งนะ อย่าคิดว่าฉลาดนะ อย่าคิดว่าออกมาอย่างนี้ แสดงอาการอย่างนี้ สภาวะอย่างนี้ เลิศ ประเสริฐ ดี เก่ง หรืออะไร 

ให้รู้ไว้เลยมันออกมาจากต้นตอคือความโง่  มันจะออกมายังไงท่าไหนไม่รู้ล่ะ ให้รู้ทันมันแล้วก็ละมัน เรียกว่าละความโง่จริง  การละจริง เห็นจริงตรงนั้น ถึงเรียกว่า “วิชชา” หรือว่าญาณ หรือว่าปัญญาญาณ หรือว่าญาณทัสสนะ หรือว่าญาณวิมุติทัสสนะ 

ซึ่งเป็นไปเพื่อความปลดปล่อยความโง่ ความเป็นมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นไม่จริง อาการที่ไม่จริง อาการที่เป็นแค่เงา  แต่เราหลงเงาของจิต  การแสดงออกมาเป็นคำพูด การกระทำนี่  ทำไปตามเงาที่ฉายออกมาจากความไม่รู้นั่นแหละ  แล้วเราไปจริงจังว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นของของเรา เป็นเรื่องของเรา เป็นจิตของเรา เป็นอารมณ์ของเรา  เป็นเรื่องของคนนั้น เป็นเรื่องของคนนี้ 

มันเป็นความหมายที่ผิดออกมาทั้งสิ้น  แต่เราก็เชื่ออย่างนั้น แล้วมันไปพ้องกับคนทั้งโลกที่เขาเชื่อเหมือนกัน  ก็เลยยิ่งเหมือนจริง สมจริง เป็นจริง  พากันโง่ยกคลอก บอกให้เลยในโลกนี้  แล้วมันไม่ได้โง่แค่ชาติเดียว ...โง่ข้ามภพข้ามชาติ โง่ไม่รู้จักจบสิ้น 

กว่าจะได้มาเจอพระพุทธเจ้า กว่าจะได้มาเจอพระที่มาสอน กว่าจะได้มาเท่าทัน เรียนรู้ ได้ยิน ได้ฟัง...วิธีอันข้ามพ้นความโง่ เอาชนะความโง่  ... ไม่ใช่ง่ายๆ ไม่ใช่ว่าฟลุ้ค ไม่ใช่ว่าบังเอิญโชคดีจัง รู้จักกันแล้วมาเจอเรา ...ไม่มีโชค ไม่มีบังเอิญ มันเป็นเหตุปัจจัยของเรานะส่งผลมา 

นี่ก็เป็นวิบาก เป็นผลอย่างนึงแล้ว ที่เราเคยกระทำมา...แล้วส่งผลให้มาได้ยินได้ฟัง กุศโลบาย หรืออุบายหรือหลักการ...ที่จะข้ามพ้นจากความโง่  ดูสิ ในโลกมีกี่คน..กี่พันล้านคน ...แต่เราได้มาฟัง  แล้วอีกสามพันกว่าล้านคนมันไปอยู่ที่ไหน มันยังไม่มีโอกาสจะได้ยินได้ฟังเลย  หรือคนที่มีโอกาสได้ยินได้ฟังก็มี..แต่ไม่ฟัง แล้วยังเถียงก็ยังมี แล้วยังบอกว่ามันคิดว่ามันดีกว่าเรา ความเห็นเขาดีกว่าเรา ก็ยังมี 

เห็นมั้ย เราอยู่ในโอกาส หรือในปัจจัยอันพร้อมอันพอแล้ว ที่จะข้ามพ้นความโง่   อยู่ที่อย่างเดียวน่ะ...อยู่ที่อย่างเดียว...อัตตาหิ อัตโน นาโถ ต้องไปทำเอง  ต้องเอาสิ่งที่ฟัง ได้ยินเข้าใจอย่างไร ขยันหมั่นเพียร พากเพียร  อย่าขี้เกียจ อย่านั่งกินนอนกิน อย่านั่งไหลนอนไหลตามอาการ นะ กลับมารู้เท่าทัน ขยันพากเพียร 

อดทนที่จะทวนกลับเข้ามาถึงต้นตอของความโง่  และจะได้ข้ามหรือหลุดพ้นออกจากความไม่รู้จริง  
เมื่อเห็นความจริงแล้ว ไม่ต้องกลัวว่ามันจะไปหยิบขี้ บอกให้เลย  แต่ตอนนี้เราเล่นกับขี้อ่ะ สำคัญว่าเป็นอาหาร หยิบกินด้วยความพออกพอใจเพลิดเพลินด้วยซ้ำ  แต่ผู้มีปัญญาท่านมองเห็นว่ามันขี้ทั้งนั้น  มันของที่ไม่มีประโยชน์อะไรเลย ไม่มีสาระอะไรทั้งสิ้น  

แต่คนเราให้ค่ากันจัง กับความคิด กับความเห็น กับคำพูด กับการกระทำ  .. กว่าจะหลุดพ้นออกจากความโง่...ก็ไม่ใช่วันสองวัน ก็ไม่ใช่เดี๋ยวนี้ขณะนี้  มันต้องอาศัยความพากเพียรทำ ... แต่ไม่เกินกำลังในชาตินี้ๆ บอกให้เลย นะ  แล้วไม่ต้องไปหวังเอาชาติหน้า ต้องเอาเดี๋ยวนี้ ขณะนี้ ชาตินี้เป็นที่สุดท้าย ไม่ต้องกลัว

ไม่งั้นมันจะขี้เกียจ ไปรอทำเอาข้างหน้า  มันก็ได้แต่ข้างหน้า แล้วก็พอไปถึงข้างหน้ามันก็รอเอาข้างหน้า พอไปถึงข้างหน้าโน้นมันก็รอเอาข้างหน้านู้นอีก เข้าใจมั้ย  ต้องเดี๋ยวนี้ให้ได้ รู้ตรงนี้ เห็นตรงนี้ ละตรงนี้  ละได้ก็ละ ละไม่ได้ก็รู้ว่าละไม่ได้ วางได้ก็วาง วางไม่ได้ก็รู้ว่าวางไม่ได้ 

แต่ต้องทำอยู่ตรงนี้แหละ มันก็ได้ผลเข้าสักวันหนึ่งแหละ ไม่ต้องกลัว  อย่าไปกลัว อย่าไปเชื่อไอ้จิตที่มันหลอกว่า 'โหย บารมีน้อย บุญน้อย ไปไม่ถึงหรอก ทำไม่ไหวหรอก มันละเอียดเหลือเกิน มันยากเหลือเกิน' 

มันเป็นความเห็นที่มันออกมาจากความโง่ ที่ไม่ยอมให้หลุดออกจากความโง่ เข้าใจมั้ย  ความคิดความเห็นเนี่ย มันออกมาจากความโง่  เพื่อจะไม่ให้หลุดออกจากความโง่ จะได้โง่ซ้ำซากเป็นเสี่ยวกัน คู่กัน  แต่ว่าต้องมีพลังในการผลักดันให้เกิดการขยันในการเจริญสติ  สติเท่านั้นน่ะ ข้ามพ้นหมด 

อย่าประมาทสติ  อย่าคิดว่าแค่รู้เฉยๆ รู้นิดนึง รู้เห็นกายเห็นจิต รู้แล้วไม่เห็นได้อะไร รู้แล้วก็ยังไม่มีความรู้อะไรเกิดขึ้น  อย่าประมาท ... แค่รู้แค่นี้แหละ ข้ามพ้นได้ด้วยรู้นี่แหละ  รู้ แปลว่า วิชชา  ไม่รู้ แปลว่า อวิชชา  ขณะที่ไม่รู้น่ะคือหลง อยู่ด้วยอวิชชา ตัณหาและอุปาทาน ขณะที่รู้น่ะ มันอยู่ด้วยวิชชา ปัญญาและญาณ 

เพราะนั้น รู้เข้าไปเถอะ  ไม่รู้อะไรก็ยังดีกว่าไม่รู้เนื้อรู้ตัว  ไม่จำเป็นหรอกว่ารู้แล้วจะต้องมีปัญญา รู้แล้วจะต้องเห็นอะไร รู้แล้วจะต้องเข้าใจอะไร  รู้มันตรงนั้นแหละ รู้ว่ามันโกรธ รู้ว่าโง่ รู้ว่าหลง รู้ว่าไม่รู้ รู้ว่าหาย รู้ว่าเผลอ รู้ว่าเพลิน รู้ว่าคิด รู้ว่ายังคิดไม่จบ รู้ว่าไม่ยอมวางความคิด  ก็รู้ไปเถอะ มันเป็นวิชชาทั้งสิ้น เป็นสติที่จะก่อให้เกิดวิชชาที่จะข้ามพ้นความไม่รู้ในที่สุด 

สะสมไปทีละเล็กทีละน้อย เหมือนร้อยพวงมาลัย  ร้อยทีละดอก..ทีละดอก เดี๋ยวมันก็เป็นพวง  เอามาห้อยหน้ารถก็ได้ เอามาห้อยคอก็ได้ เอาไปบูชาพระพุทธเจ้า...บูชาพระพุทธรูปก็ได้ แต่ว่าจะได้พวงมาลัยสักพวง เห็นมั้ย  เอาดอกพุดเล็กๆ เท่าหัวเข็มหมุด มาร้อยๆๆ ทีละอันทีละดอก 

ด้วยความเพียรไม่หยุดไม่ยั้ง เดี๋ยวก็ได้เป็นมาลัยขึ้นมา  พอได้มาลัยเป็นพวงขึ้นมาแล้ว จะเห็น...มันเกิดความภาคภูมิใจ  มันเกิดผลขึ้นมาจากการกระทำของเรา  อย่าท้อถอย ทำแล้วก็ '..โอ้ย ไม่เห็นอะไรเลยแล้วก็วาง..โอ้ย ไม่เห็นอะไรแล้วก็วาง'  มาลัยมันก็เลยมีเส้นอยู่แค่นี้ มันไม่เป็นมาลัยที่มาคล้อง ได้ผลได้ประโยชน์อะไร

ทำไปเหอะ เก็บเล็กผสมน้อย รู้เข้าไป ๆ ทุกเวล่ำเวลาที่เราสามารถจะรู้ได้  รู้ ก็คือการร้อยพวงมาลัยไปทีละดอก ๆ เจริญสติไปทุกขณิกะที่รู้  ผลมันก็มีเอง  ผลไม่ได้เกิดจากการนั่งคิด นั่งคาด นั่งเดา นั่งพิจารณา นั่งหา หรืออ้อนวอน หรือว่าร้องขอ หรือว่ามาหาพระบ่อยๆ 

หาบ่อยเท่าไหร่ หา..ต่อให้กิน นอน ยืน เดิน อยู่กับเราตลอด 24 ชั่วโมง ก็ไม่มีผลอะไรเกิดขึ้น มันจะไม่ได้อะไรเลย  กับการที่มาหาเรา แล้วฟังแล้วเข้าใจ แล้วไปฝึก ไปเจริญสติขึ้น  ร้อยวันพันปีหรือว่าเป็นเดือนเป็นปีค่อยมาคุยกับเรา ยังมีผลมากกว่าด้วยซ้ำ

เพราะนั้นการปฏิบัติ มันอยู่ที่การกระทำ เจริญขึ้นมา ปรารภขึ้นมา  สติต้องปรารภขึ้นมา ในทุกกาลเวลาสถานที่และบุคคล  ไม่มีข้ออ้าง ไม่มีข้อจำกัดเลย  เวลาไหนเมื่อไหร่นึกขึ้นมาได้ ระลึกขึ้นมาได้เมื่อไหร่ดูให้ต่อเนื่องไป  ได้สั้นเอาสั้น ได้ยาวเอายาว ไม่ได้ก็ต้องได้ อย่างนี้  ให้เห็นคุณค่าของสติมากๆ .


(มีต่อ แทร็ก 2/3)


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น