วันอังคารที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2557

แทร็ก 2/1





พระอาจารย์

2/1 (530701A)

1 กรกฎาคม 2553


โยม –  มันรู้ทฤษฎีน่ะฮ่ะหลวงพ่อ  คือมันอยู่ทางโลก ...เวลาเกิดเหตุการณ์จริงมันไม่ทัน โกรธ...อย่างนี้ค่ะ หงุดหงิด  เยอะเลย เละเทะหมดเลย  ไม่เคยทัน  เกิดแล้วถึง..อ้อ เกิดไปแล้ว     

พระอาจารย์ –  สติมันต้องรู้ทีหลังนะ ...ไม่ได้รู้ก่อนหรอกนะ มันต้องมีอะไรเกิดก่อนค่อยรู้  ค่อยๆ พัฒนาไป จนกว่ามันจะเกิดอาการเท่าทัน ... อย่าไปถอย อย่าไปท้อ ทำไปเรื่อยๆ ทำให้มันต่อเนื่องมากขึ้นๆ 

เวลาไม่มีอะไรทำ เวลาไม่มีอารมณ์ ไม่มีอะไรน่ะ คือเวลาที่ต้องใส่ใจเยอะๆ  ต้องอาศัยความใส่ใจ ตั้งใจ ตั้งสติขึ้นมา ระลึกรู้ดูกายดูจิต เป็นนิสัยไปเลยน่ะ ...จนเป็นนิสัย ไม่ใช่ปล่อยมันเป็นนิสัยเผลอเพลิน   


โยม – (หัวเราะ) พวกเดียวกัน     

พระอาจารย์ –   อีกคนนึงล่ะ อยู่เชียงใหม่เหมือนกันรึ  


โยม –  อยู่เชียงใหม่ค่ะ เปิดร้านเสริมสวยอยู่เชียงใหม่ แต่ไม่ใช่คนเชียงใหม่ค่ะ ....ก็มีความรู้สึกว่าชีวิตมีแต่ความทุกข์ฮ่ะ ...ทุกข์เพราะเราไปให้ค่ากับมันรึเปล่าคะ   

พระอาจารย์ –   ทุกข์มันมีอยู่สองอย่าง  ธรรมดามันก็ทุกข์อยู่แล้ว แล้วเราก็ไปให้ความสำคัญกับมันด้วย...เกินไป มันทุกข์เกินจริง  ธรรมดามันก็ทุกข์ เพราะว่ามันทุกข์ตามความจริง 

ไอ้อย่างที่พวกเราทุกข์ มันไม่ใช่ทุกข์ตามความจริง  ทุกข์แบบหลง..หลงไป หลงไม่ได้ดั่งใจ  ทำแล้วไม่ได้ผล ทำแล้วไม่ได้ดั่งใจ คนอื่นทำแล้วไม่ได้ดั่งใจ พวกเนี้ย  มันเกิดอาการไม่ยอมรับ เกิดอาการไม่ยอมรับ..มันก็เป็นทุกข์ขึ้นมา  เกิดจากการคาดคะเนแล้วไม่ได้ หวังแล้วไม่ได้ ...พวกนี้เป็นอุปาทานหมด

ธรรมดาได้หรือไม่ได้น่ะ มันไม่ใช่หน้าที่ของเรา  แต่เราไม่มีปัญญา  ... เราคิดว่าต้องได้ มีความเห็นยังไง คิดยังไง ต้องเป็นยังงั้น  เขาเรียกว่าหลงไปตามความคิด หลงไปตามความเห็นของเรา

เพราะนั้นการฝึกสติ หรือฝึกการรู้เท่าทันนี่ มันเป็นไปเพื่อความยอมรับน่ะ ต้องยอมรับให้ได้ เล็กๆ น้อยๆ ต้องฝึกอย่างนั้น  ไม่ใช่การเจริญสติเพื่อให้มันเป็นอะไรขึ้นมาใหม่อย่างนั้น หรือว่าเจริญสติเพื่อให้อารมณ์นั้นดับไป...ไม่ใช่นะ


โยม –  แล้วควรจะทำยังไง      

พระอาจารย์ –  ก็คือรู้เฉยๆ   


โยม –   ปล่อยให้มันไปตามธรรมชาติ  

พระอาจารย์ –   ฮื่อ ยอมรับ ต้องยอมรับตามความเป็นจริงที่ปรากฏนะ  ไม่ว่าอารมณ์ไหนจะเกิดขึ้นก็ตาม  อย่าไปหงุดหงิดรำคาญ อย่าไปว่าทำไมถึงเป็นอย่างนี้   การดูนี่ให้ดูเฉยๆ มีก็รู้ว่ามี เกิดก็รู้ว่าเกิด ตั้งก็รู้ว่าตั้ง มากก็รู้ว่ามาก น้อยก็รู้ว่าน้อย ไม่ต้องไปวิพากษ์วิจารณ์อะไรกับมันหรอก รู้เฉยๆ รู้ไปเรื่อยๆ 

มันจะเกิดซ้ำซาก หลงซ้ำซาก อะไรก็ตาม รู้เข้าไป  อย่าถอย อย่ากลัว อย่ากังวล อย่าไปคิดว่าถูกหรือว่าผิด  มีหน้าที่อย่างเดียวคือเจริญสติ มรรค คือเจริญความรู้เข้าไป  มีอะไรเกิดขึ้นก็รู้ๆๆๆ  

แต่ว่าอดทนนะ มันต้องอดทนนะ ...ไม่อดทนนี่มันจะดิ้น แล้วก็หาวิธีการใหม่ๆ เพื่อให้มันหายไปเร็วๆ    


โยม – จะผลักไสมันไป     

พระอาจารย์ –  อือ ให้มันหายไปเร็วๆ หรือไม่ให้มันเกิดขึ้นมาอีกเลย  นี่ อย่างนี้นี่เป็นความรู้สึกลึกๆ ของการปฏิบัติของพวกเราอ่ะ คือไม่ยอมรับความเป็นจริงที่ปรากฏ 

แต่มันจะมีความเป็นจริงที่ตัวเองตั้งไว้ว่า...ดูแล้วจะต้องได้ยังไง ปฏิบัติธรรมแล้วจะได้อะไร อย่างเงี้ย  ตั้งไว้รึเปล่า อยากให้มันเป็นอย่างนั้น อยากให้มันเป็นอย่างนี้


โยม –  ตั้งไว้       

พระอาจารย์ –  อือ ทิ้งเลย  ไอ้ที่ตั้งไว้น่ะ ทิ้งให้หมด  เพราะว่าการเจริญสติหมายความว่า ให้กลับมาเรียนรู้มัน ว่ามันมีอยู่  ขณะนี้อยู่ในอาการใด  

เพราะอะไร เพราะจิตเพราะใจนี่ อาการของจิตมันควบคุมไม่ได้ ...มันควบคุมไม่ได้ มันไม่ใช่อำนาจของเรา  อย่าไปคิดว่า เจริญสติหรือดูจิตดูใจแล้วนี่ มันจะไปควบคุมปรับเปลี่ยนอะไรได้นะ  เพียงแต่เข้าไปรู้เข้าไปเห็นมัน แล้วยอมรับมันตามความเป็นจริงที่ปรากฏเท่านั้น 

ส่วนกระบวนการต่อไป...เป็นเรื่องของจิตที่เขาจะดำเนินการของเขาไปเอง ไม่ใช่หน้าที่ของเรา  อย่าไปคาดหวังหรือว่าจะให้มันเป็นอย่างนั้น จะต้องให้มันเป็นอย่างนี้  ตั้งเวลาเอาไว้ ต้องว่าปีนั้น ฟังมาตั้งนาน ฝึกมาตั้งนาน ทำไมไม่ได้ผล  คือมุ่งจะเอาแต่ผลน่ะ แต่ว่ามันไม่อยู่ในมรรค

มรรคคือการเจริญสติ  สติในที่นี้หมายความว่าสติที่เป็นกลางนะ คือสติที่เพียงแค่รู้เฉยๆ หรือว่ารู้อาการของมันตามความเป็นจริง โดยที่ไม่ไปยุ่งกับมัน ไม่ไปแทรกแซงมัน  ...โกรธก็รู้ว่าโกรธ โกรธมากก็รู้ว่าโกรธมาก มันยังไม่หายก็รู้ว่ามันยังไม่หาย 

ไม่ต้องไปทำให้มันหาย ไม่ต้องไปรังเกียจมัน ไม่ต้องไปผลักดันมันออกไป ไม่ต้องไปห้ามมัน นะ อยู่กับมัน ให้มันเรียนรู้ว่าเนี่ยอยากโกรธทำไม รู้กับมันไป ให้จิตมันจำ ไม่ใช่ว่ารู้แล้วไปเดือดเนื้อร้อนใจกับมัน เนี่ย รู้แล้วเกิดอาการยินดียินร้าย ...ให้เท่าทันอาการยินดียินร้ายของอาการที่ปรากฏ...เมื่อรับรู้อ่ะ

ทำใจเฉยๆ ไว้ ...ช่างมัน ท่องเข้าไว้..ช่างมัน ช่างมันเข้าไป ช่างหัวมันก็ได้ ไม่ช่างมันก็ช่างหัวมัน  ภาษาดิบๆ ก็ ช่างมึง เรื่องของมึง ไม่ใช่เรื่องของกู (โยมหัวเราะ) อย่างนี้  ถ้าภาษาสุภาพก็ช่างเขาเถอะ อะไรอย่างนี้   เป็นเรื่องของเขา ไม่ใช่เรื่องที่เราจะไปตัดสินหรือกำหนดกะเกณฑ์ ...เลือกไม่ได้ 

เราต้องยอมรับก่อนว่าเรามีกิเลส กิเลสเป็นของที่คู่มากับเรา มันก็แสดงอาการตามความเป็นจริงของเรานี่แหละ  เราก็กลับมาเรียนรู้กับมัน...คือต้องยอมรับตัวเราเองก่อน อย่าเพิ่งไปสร้างตัวเราขึ้นมาใหม่ เป็นตัวเราที่ไม่มีกิเลส หรือตัวเราที่กิเลสน้อยลง 

ต้องยอมรับตัวเราที่แท้จริงก่อน ...เห็นมัน รู้มัน เท่าทันมันบ่อยๆ เห็นอาการมันบ่อยๆ ...แล้วมันจะเกิดอาการที่รู้ไวขึ้น เห็นไวขึ้น  ความกังวลกับมันก็จะน้อยลงเมื่อยอมรับกับมันมากขึ้น

แต่ว่าในช่วงนี้เรารู้...แล้วเราไม่ยอมรับมัน เรารู้แล้วเราปฏิเสธมัน นี่แหละคือปัญหา


โยม –   เราก็เลยทุกข์  

พระอาจารย์ –  อือ มันทุกข์อยู่แล้ว เราก็ไปทุกข์เพิ่มกับมันอีก ยิ่งดูยิ่งทุกข์ ยิ่งเห็นยิ่งทุกข์ ยิ่งเกิดมาซ้ำๆ ยิ่งทุกข์ เพราะเราไม่ยอมรับอาการพวกนี้  ซึ่งอาการพวกนี้เราบอกว่ามันเป็นตามความเป็นจริง มันมียังไงก็เป็นอย่างงั้นน่ะ 

รู้เข้าไปๆ อย่าเผลอนาน อย่าเพลินนาน อย่าปล่อยให้มันหายไปนาน ไม่มีอะไรรู้ก็รู้กาย รู้อิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน ขยับตัว ขยับมือขยับไม้  ทำร้านเสริมสวยยิ่งสบายเลย ยืนอยู่ขยับไปขยับมาเห็นอาการมั้ยล่ะ (ค่ะ)  ดูอาการของกายไป อย่าเอาแต่เมาท์ คุยไปเรื่อย คุยน่ะ...เวลาคุยน่ะหายหมดแล้ว     


โยม –  เขาคุยมา หนูก็คุยไป    ฟุ้งกันไปหมด        

พระอาจารย์ –  นั่นแหละ มันไม่ทัน


โยม –  ค่ะ

พระอาจารย์ –  ถ้าไม่ทันแล้ว ให้มารู้อาการทางกาย...กำลังขยับ กำลังไหว  ไม่ใช่ไปนินทากันไป นินทากันมา พูดเรื่องนั้นคนนั้นคนนี้ พูดเรื่องดารงดารามั่ง อะไรมั่ง ไปเรื่อยเปื่อย  มันออกไปไกลน่ะ มันเผลอ เพลินไป  กว่าจะรู้ตัวก็ โอ้ย กลับมารู้นิดเดียวก็หาย สติก็หาย  มันต้องใส่ใจ...ใส่ใจ กลับมารู้บ่อยๆ

ธรรมดามันเผลอเพลินอยู่แล้ว เป็นธรรมชาติที่เกิดมาพร้อมกันกับจิตดวงนี้ที่มีกิเลสน่ะ  ...ก็ต้องมาสร้างสติขึ้นมาใหม่...เบื้องต้นนะ สตินี่ต้องสร้างนะ ปล่อยไม่ได้นะ มันไม่ได้เกิดเองนะ ต้องมีการกระทำ  แต่ว่าทำให้มันเบาๆ น่ะ ไม่ได้ทำแบบขุดดินขุดทรายอย่างนั้น ...รู้เบาๆ 

ไม่ใช่ว่าใจดีก็เอาใหญ่เลย พอใจร้ายก็ไม่เอา..ไม่เอาเลยอย่างนี้  ทำเบาๆ รู้เบาๆ สังเกตเบาๆ ง่ายๆ  ไม่ใช่ขยันที โอ้โหย ตั้งอกตั้งใจดู พอไม่ขยันก็ไม่เอาอะไรเลย  ให้มันเป็นกลางๆ ไป เหมือนกับการสร้างความเคยชินขึ้นมาใหม่ ...เอ้า สงสัยอะไร อยากรู้อะไร 


โยม – ไม่ต้องหนีหรือคะ    

พระอาจารย์ –  หือ จะหนีอะไร จะหนีไปไหน  


โยม –  ก็มันโดนเยอะๆ ...โดนสัมผัสเยอะๆ น่ะค่ะ     

พระอาจารย์ – แล้วจะหนีไปไหน     


โยม –  ไม่รู้เหมือนกัน       

พระอาจารย์ –   ไม่รู้ก็ไม่ต้องหนี  อยู่กับมันนั่นแหละ เรียนรู้กับมัน  อดทน...ต้องอดทนนะ  ถ้าหนีก็หนีไม่พ้นหรอก หนีไปก็จะเจอๆ หนีไม่พ้นหรอก ... เหตุมันอยู่ที่นี่ เข้าใจมั้ย เหตุมันอยู่ตรงนี้ ตรงใจของเราน่ะแหละ  หนีไปไหนก็เอากายเอาใจไปเหมือนกันน่ะ มันหนีไม่พ้นหรอก เพราะตัวต้นเหตุมันอยู่ตรงนี้ 

อย่าไปเข้าใจว่าไอ้พวกนี้เป็นเหตุ...ว่าภายนอกเป็นเหตุ คำพูดคนนั้นการกระทำคนนี้เป็นเหตุ เรื่องราวต่างๆ ล้อมรอบตัวเราเป็นเหตุ ...นั่นไม่ใช่เหตุนะ มันเป็นเพียงปัจจัยแวดล้อมเท่านั้นเอง  มองดูให้มันเห็นเป็นของที่ไม่แน่นอน ไม่เที่ยง มันแปรปรวน 

มันไม่ถาวรหรอก  อย่าไปคิดว่ามันจะเป็นอย่างนี้ตลอดชีวิต หรือตลอดชาติ  แต่ละวันก็เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เห็นมั้ย  อาจจะดูซ้ำซาก แต่มันก็เปลี่ยนอยู่ มันไม่อยู่อย่างนั้นหรอก  อย่าไปคิดว่ามันอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา มันเป็นแค่ความคิด 

อดทน ...รู้เข้าไป หงุดหงิดก็รู้ว่าหงุดหงิด ขุ่นมัวก็รู้ว่าขุ่นมัว  รู้เข้าไป  ไม่มีถูกไม่มีผิดหรอก ไม่มีอะไรดีกว่านี้แล้ว เท่าที่เป็นน่ะมันดีที่สุดแล้ว อย่าไปเลือก

บอกแล้วไง อย่าคิดว่าปฏิบัติธรรม...ปฏิบัติแล้วมันจะดีขึ้น  ...ไม่ดีขึ้นหรอก แต่ว่าเรายอมรับได้มากขึ้นแค่นั้นเอง  อย่าคิดว่าดีขึ้นนะ ถ้าคิดว่าดีขึ้นมันจะไม่ดีขึ้นเลย แต่คิดว่าเท่าเก่าน่ะแหละ แต่ว่าเรายอมรับได้ ไม่เป็นทุกข์กับมัน ...เห็นเป็นเรื่องธรรมดา


โยม – เห็นเป็นเรื่องธรรมดา    

พระอาจารย์ –   อือ  


โยม –  (หัวเราะ) มันไม่ใช่ง่ายๆ   

พระอาจารย์ –   อือ มันธรรมดา  ดูไปดูมาแล้วเป็นเรื่อง..อะไรวะ แค่นั้นเองน่ะ เรื่องแค่นี้เอง เรื่องจิ๊บๆ ไม่ใช่เรื่อง อู้หู ใหญ่โตมโหฬาร อย่างที่เราประมาณการเอาไว้...ไม่ใช่หรอก เป็นเรื่องธรรมดา แล้วก็ยอมรับมันให้ได้

การปฏิบัติธรรมไม่ได้ให้หนีอะไร  พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้หนีอะไร ท่านให้เรียนรู้ทุกข์ อยู่กับทุกข์  ทุกข์ภายนอกทุกข์ภายใน อยู่กับมัน รู้กับมัน  จนมันกลัวเราน่ะ ไม่อยู่กับเราได้น่ะ  อย่าไปกลัวมัน ทำใจให้ใหญ่ไว้ ให้แข็งไว้  มันมีแค่นี้ ถามมันดิ ว่ามีอีกมั้ย...ทุกข์แค่นี้เองเหรอ 

แค่คิดแค่นี้ ก็ร้องตายแล้วๆ  ยั๊ง...ยังมีมากกว่านี้อีก  ให้มันเรียนรู้ไป ให้มันแข็งแกร่งกว่าทุกข์ จนทุกข์ไม่สามารถตั้งอยู่บนใจเราได้  มองดูอะไรๆ ก็เป็นเรื่องเล็กน้อย เรื่องธรรมดา เรื่องเบาๆ เรื่องง่ายๆ  มันยากเพราะเราไปผูกกับมันไว้ ในสัญญาในความจำ ในความคิดไปข้างหน้าว่ามันจะไม่จบมันจะไม่สิ้นน่ะ  มันเป็นแค่สิ่งที่เราหลอกตัวเราเองขึ้นมาเท่านั้น

แต่ถ้าเรารู้บ่อยๆ รู้เท่าทัน อยู่ในรู้บ่อยๆ เนี่ย  ความปรุงแต่งในอดีตในอนาคตมันจะน้อยลง เข้าใจมั้ย  แต่ทุกข์น่ะเท่าเดิม  อาการเห็น อาการรับรู้ อาการได้ยินนี่ มันก็เท่าเก่า  แต่ว่าอาการที่เราจะปรุงแต่งไปในอดีตในอนาคตนั้นมันจะน้อยลง 

เมื่อเราปรุงแต่งไปในอดีตอนาคตน้อยลงนี่ การเปรียบเทียบกับปัจจุบันมันจะน้อยลง มันจะไม่คิดเปรียบเทียบว่า ..'เอ๊อะ ข้างหน้ามันจะเป็นยังไงต่อไป ..เออ ถ้ามันเป็นอย่างนี้แล้วข้างหน้าเราจะเป็นยังไงต่อ ..ถ้ามันเป็นยังงี้ๆ ทุกวันแล้วเราจะเป็นยังไงต่อ'  นี่มันปรุงต่อไปในอนาคต ...'ต้องเจอคนอย่างนี้ทุกวันๆ' นี่ มันปรุงต่อในอนาคตแล้ว

แต่ถ้าเรารู้อยู่เฉยๆ นี่  อาการคิดไปอย่างนี้มันจะน้อยลง มันจะเท่าทันความคิดอย่างนี้  พอรู้ว่าคิดอย่างนี้ รู้แล้ว วางแล้ว ไม่เอาแล้ว จะคิดไปทำไม  เจอก็เจอ ไม่เจอก็ไม่เจอ  มีเหตุการณ์ยังไงก็มีเหตุยังงั้น ก็มีเหตุไป ...ก็วันต่อวัน ขณะต่อขณะ เดี๋ยวนี้ต่อเดี๋ยวนี้  ไม่มีชีวิตเพื่ออนาคตกับอดีต 

มันมีอยู่ตรงนี้ เท่าที่มี ...ตรงนี้ มีอะไรมั้ยเนี่ย  งานมีอยู่มั้ยเนี่ย มีคนอยู่มั้ย เรื่องราวมีมั้ย ...ไม่มีนะ  มันมีแต่ความจำได้แค่นั้นเอง  ถ้าคิดเมื่อไหร่ก็ทุกข์ บอกให้เลย คิดถึงเรื่องที่เขามาทำกับเราที่ผ่านมาเป็นยังไง..ทุกข์แล้ว  

แต่ถ้าอยู่อย่างนี้ นั่งอยู่อย่างนี้ รู้กายรู้ใจฟังเสียงเราอยู่เนี้ย มีทุกข์เกิดมั้ย  เข้าใจมั้ย ถ้าอยู่กับปัจจุบันนี่ไม่ทุกข์


โยม –  ให้อยู่กับปัจจุบัน   

พระอาจารย์ – อือ ให้อยู่กับตรงนี้  ปัจจุบันมีตรงไหน กายมีมั้ย จิตมีมั้ย ตรงเนี้ย ขณะเนี้ย  กำลังฟัง กำลังรู้ กำลังได้ยินอยู่เนี่ย  นี่ ให้รู้อยู่อย่างนี้ 

ไม่มีหรอก...ทุกข์เกิดไม่ได้ เพราะทุกข์นี่มันเกิดจากการปรุงแต่งไปในอดีตและอนาคต แล้วก็มีความหมายมั่นขึ้นมาว่าอดีตเคยเป็นอย่างงี้ อนาคตมันน่าจะเป็นอย่างงั้น  'ปัจจุบันเป็นอย่างนี้ โหย อนาคตต้องเป็นอย่างนั้นแน่เลย' ... ทุกข์แล้ว ...ใช่ป่าว

แต่ถ้าอยู่อย่างนี้ ไม่ต้องคิดน่ะ เป็นคนไร้ความคิดซะ หรือทำความคิดให้มันสั้น อย่าไปคิดมาก อย่าไปคิดไกล อย่าไปคิดยาว อย่าขยันคิด อย่าเพลินกับความคิด  แค่เนี้ย อยู่ตรงนี้ อยู่แบบโง่ๆ  เนี่ย อยู่ตรงเนี้ย โง่มั้ย...โง่มั้ย (โยมหัวเราะ) 

โง่ ... อยู่แบบคนโง่ แล้วมันจะอยู่ได้  อยู่แบบฉลาดเกิน ฉลาดมั่ว ฉลาดคาด ฉลาดคะเน ฉลาดเดา  รู้ไปหมดข้างหน้าอดีตอนาคต เป็นผู้หยั่งรู้ไปหมด 'มันมาอย่างงี้แปลว่าอีกสิบวันมันต้องเป็นอย่างนี้' ...ไปรู้ได้ไงกับเขา 

เชื่อแล้ว มันคิดอย่างนี้แล้วมันก็เชื่อแล้วนะ (โยม – ใช่)  ...'เกิดเหตุการณ์อย่างงี้ๆๆ ต่อไปเราต้องเจออย่างนี้แน่นอน' ...นี่มันคิดไปเองแล้วเชื่อเลย แล้วก็ทุกข์...ทุกข์ล่วงหน้าแล้ว  แล้วทุกข์ล่วงหน้ามันไม่พอ มันมาทุกข์ตอนนี้ กำลังคิดแล้วคิดอีก คิดแล้วคิดอีก ซ้ำซาก หาเรื่องมาเผาตัวเอง ใช่ป่าว

กับการมาอยู่โง่ๆ อย่างนี้ ...ไม่รู้อะไร ไม่คิดอะไร เป็นพวกอัลไซเมอร์น่ะ ไม่ต้องคิดไม่ต้องจำ


โยม – เขาก็ว่าเราโง่    

พระอาจารย์ –   ก็เรื่องของเขาว่า  สมมติเขาว่าเราโง่อย่างเงี้ย แล้วเราฟัง แล้วเรารู้สึกยังไง ดูไป ยินดียินร้าย ไม่พอใจรู้ว่าไม่พอใจ ...จบ  ไม่ต้องคิดต่อ ไม่ต้องคิดว่าเราจะด่ายังไงให้มันแสบกว่านั้น 


โยม – (หัวเราะ)    

พระอาจารย์ –  ไอ้อย่างนี้ๆ คิดต่อแล้ว จะหาทางแก้แล้ว หาทางแก้ หาทางเอาคืนแล้ว หาทางไม่จบแล้ว เห็นมั้ย จะไม่จบนะ ไม่จบ  แต่ถ้ายอมรับซะ เขาว่าโง่ก็โง่ อ่ะ เราพอใจไม่พอใจดูตรงนี้  ดูตรงนี้แก้อยู่ตรงนี้ อดทนอยู่ตรงนั้นแหละ 

ยอมแพ้มันทุกเรื่องน่ะ บอกให้เลย  ใครอยากได้อะไรๆ เอาไป ใครอยากได้ศักดิ์ศรีเราเอาไป ใครอยากได้ความถูกต้อง เอาไป  เอาไปให้หมด เอาไปจนเราไม่เหลืออะไรอ่ะ ไม่เหลืออะไรในความคิดความเห็นน่ะ สบาย  สุดท้ายเขาไม่มีอะไรจะเอาจากเราแล้ว 

เพราะกูไม่มีอะไรจะให้มึงแล้ว เพราะมึงเอาของกูไปหมดแล้วอ่ะ  เอาศักดิ์ศรีก็เอาไปหมดแล้ว เอาคำด่าคำชมก็เอาไปหมดแล้ว รับหมดๆ อย่างเนี้ย สบายแล้ว ... อย่าไปคิดว่าตัวเรามีอาณาเขตที่ใครจะมาล่วงล้ำไม่ได้ หรือว่ามีขอบเขต ..'อย่านะๆ อย่าเข้ามานะ' ...ห้ามเขาไม่ได้หรอก ห้ามคนไม่ได้หรอก

การอยู่ในสังคมเป็นอย่างนั้น อยู่กับคนที่มีกิเลส ห้ามไม่ได้  จะให้เขาปฏิบัติต่อเรา พูดต่อเรา มีความเห็นต่อเราให้ถูกใจทุกคนทุกเรื่องราวนี่...แค่คิดก็ผิดแล้ว  

เห็นพระพุทธรูปมั้ย พระอยู่เฉยๆ รึเปล่า  สวยมั้ย หรือไม่สวย สวยหมดเลยรึเปล่า  แล้วท่านบอกว่าสวยรึเปล่า หรือบางคนก็บอกว่ามันดูไม่เหมือนจริง  เห็นมั้ย...พระนั่งอยู่เฉยๆ ยังมีคนมาว่าท่านได้ มีความเห็นต่อท่านได้น่ะ


โยม –  ใช่  

พระอาจารย์ –  ห้ามได้มั้ย 


โยม –  ห้ามไม่ได้  

พระอาจารย์ –  ห้ามไม่ได้...แล้วจะไปห้ามทำไม แล้วจะไปแก้ทำไม เหนื่อยรึเปล่า...เหนื่อย   


โยม –   ค่ะ เหนื่อยมากเลย  

พระอาจารย์ –   ก็เหนื่อยน่ะสิ  เพราะเราต้องการจะให้มันได้ดั่งใจเราทุกคนในโลกนี้  โลกนี้มีสี่พันกว่าล้านคน ถ้าเจอสี่พันล้านคนนี่ วันทั้งวันเราไม่ต้องทำมาหากินเลย ทำยังไงจะให้เราถูกใจเขา จะให้เขาถูกใจเรา ... เป็นไปไม่ได้ 

ตัวของเราต้องแสดงความเป็นตัวของเราที่เป็นกลาง  เข้าใจคำว่าเป็นกลางไหม...ไม่มีเงื่อนไข ไม่มีปัญหากับอะไร ไม่มีปัญหากับเสียง ไม่มีปัญหากับรูป ไม่มีปัญหากับกลิ่น ไม่มีปัญหากับรส ไม่มีปัญหากับผัสสะต่างๆ นานา ไม่มีปัญหากับความคิด ไม่มีปัญหากับความจำ ...นั่นแหละกลาง 

แล้วก็กลางไปเรื่อยๆ จนถึงที่สุด จนเป็นปกติ  ทุกสิ่งทุกอย่างก็เป็นธรรมดา มีแต่ความเป็นธรรมดา กลับคืนสู่ธรรมชาติของต่างคนต่างมี ต่างคนต่างเป็น ต่างคนต่างเกิด ต่างคนต่างตาย ต่างคนต่างตั้งอยู่ ต่างคนต่างแสดง ต่างคนต่างเจอกันแล้วก็ผ่านกันไป ...ก็แค่นั้น สุดท้ายมันก็แค่นั้นเอง

จะเอาอะไรมากกว่านี้...ชีวิตมนุษย์ หือ จะเอาอะไร  คาดไว้เคยได้ดังหวังรึเปล่า ได้มาสักกี่เปอร์เซนต์ เห็นมั้ย  ไม่ต้องคาดไม่ต้องคิด มันก็ไปเองของมันไป ทำไปเท่าที่ทำได้  อย่าไปกังวล อย่าไปสร้างภาพไว้มากมายก่ายกอง หาเรื่องทุกข์เปล่าๆ  

จิตน่ะมันคอยแต่หาเรื่องทุกข์ด้วยความไม่รู้ คิดแต่วันข้างหน้าจะดีกว่าวันนี้อยู่เรื่อยน่ะ คิดแต่จะแก้เดี๋ยวนี้ให้ข้างหน้ามันจะดีขึ้น มันเลยทิ้งปัจจุบันไปหมด หนีปัจจุบัน หนีความเป็นจริงในปัจจุบัน  ถ้าเรายอมรับความจริงในปัจจุบันซะ ทุกสิ่งทุกอย่างมันจะเกิดความเป็นกลาง พอดี มีแต่ความพอดี 

อะไรก็ได้ ยังไงก็ได้   เขาว่าก็ได้ เขาชมก็ได้ เขาไม่ว่าก็ได้ เขาไม่ชมก็ได้ เขาเฉยๆ ก็ได้  จิตก็อยู่ในความเป็นปกติธรรมดา  เพราะเราไม่ได้คาดหวังอะไร...จากสิ่งใด จากบุคคลใด จากเหตุการณ์ใดๆ แล้วแต่เขาจะแสดงอาการออกมายังไง

เราต้องฝึกตรงนี้ให้เท่าทัน  รู้ว่า เออ..พอใจ ไม่พอใจ แล้วก็รู้อยู่ตรงนี้ๆ รู้อยู่ตรงนี้ สบายๆ  ดูมันไป พอใจก็พอใจ ไม่พอใจก็ไม่พอใจ ให้กลับมารู้อยู่ตรงนี้ หรือไม่มีอะไรเลย อยู่เฉยๆ ไม่มีเหตุการณ์ภายนอก ก็มานั่งดูอาการของกายของใจของเราไป มีความคิดบ้าง ไม่มีความคิดบ้าง มีอารมณ์มั่ง ขุ่นมัวมั่ง กังวลมั่ง อยู่ในอดีตอนาคตก็ให้รู้ว่าอยู่ในอดีตอนาคต 

พอรู้แล้ว รู้มากๆ แล้ว เห็นว่ามันเป็นทุกข์แล้ว ก็ละได้แล้ว  พอมันรู้ว่าทุกข์เพราะความคิดมันก็จะละความคิด พอมันรู้ว่าทุกข์เพราะความจำได้ มันก็จะละความจำ พอมันรู้ว่าทุกข์เพราะความเห็นต่างๆ นานา มันก็จะละความเห็นต่างๆ นานา 

แต่ถ้าเราไม่กลับมารู้ ไม่มาเห็น ว่านี่เป็นอาการที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์แล้วนี่ มันจะไม่สามารถจะเลิกจะละได้  มันยังคิดว่าความคิดเป็นสรณะ ต้องคิด ต้องปรุง ต้องพิศให้ละเอียดลออในเหตุการณ์นั้นๆ ในบุคคลนั้นๆ  เพื่อจะวางตัวอย่างนั้น เพื่อจะวางตัวอย่างนี้ เพื่อจะพูดยังงั้น เพื่อจะทำใจยังงี้ 

นี่ มันยังอาศัยความคิดเป็นอย่างนั้น มันยังเห็นประโยชน์แห่งความคิด มันก็ไม่ยอมละความคิด  จนกว่ามันจะเห็นโทษ...ว่าความคิดนี่แหละเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ มันก็จะละ  พอรู้ว่าคิดปั๊บ มันก็ไม่เอาแล้ว ไม่คิดต่อแล้ว พอมันคิดออกมาก็ ..'เอ๊อ จะไปคิดทำไม ยังไม่ถึงเรื่องเลย เจอกันค่อยว่ากันไป' 

เราไม่รู้หรอก เราคาดไม่ได้หรอกว่าเขาจะออกมาในอาการไหน เราพูดอย่างนี้แล้วเขาจะออกมาปฏิกิริยาไหน เราเจอคนแบบนี้แล้วจะตั้งท่ายังไง ... อยู่ในปัจจุบันไปเรื่อย เอาปัจจุบันเป็นตัวกำหนดเลย อย่าไปกลัวอนาคต อย่าไปกลัวเนื่องจากอดีตเคยผ่านมาอย่างนั้นอย่างนี้ ...มันไม่แน่ๆ

แค่นี้  มันจะมีชีวิตโดยไม่มีความคิดหรือความเห็นเป็นตัวนำ แต่มันจะมีธรรมเป็นตัวนำพาไป กับธรรมที่เป็นปัจจุบันล้วนๆ  แล้วมันจะเป็นกลาง มันพร้อมที่จะรับได้ทุกกรณี โดยไม่มีเงื่อนไข  

แต่ถ้าเราคิดปั๊บ มันจะมีเงื่อนไข  พอผิดเงื่อนไขเมื่อไหร่ล่ะ เอาแล้ว มีปัญหาแล้ว จดจำ เคียดแค้น กังวล ดีใจ เสียใจ ผูกโกรธ ผูกรัก ผูกพัน อะไรต่างๆ นานา ถ้าคิดแล้วเป็นไปอย่างที่เราคิดหรือไม่เป็นไปอย่างที่เราคิด 

เพราะนั้นมันจะมีความเคยชินในการกระทำอะไรก็ต้องคิดไปก่อน คิดล่วงหน้า คิดยาว คิดไกล  บางทีคิดข้ามชาติ อย่างนี้  ตั้งความเห็น ตั้งความหวังข้ามชาติ ..'ชาตินี้เบื่อจัง ชาติหน้าขอให้ดีกว่านี้ ทำบุญทำทานอะไรก็ขอให้เกิดมาให้มีชีวิตที่สมบูรณ์กว่านี้'  ...มันก็จะอีหรอบเก่าน่ะแหละ เกิดมาเท่าไหร่ก็อีหรอบนี้แหละ ไม่ต้องกลัวหรอก ไม่มีอะไรดีกว่านี้แล้ว นะ 

กลับมายอมรับมันให้ได้ในภพในชาติปัจจุบัน ในเหตุปัจจุบัน ในกาลปัจจุบัน ในสิ่งแวดล้อมปัจจุบัน ...ดีที่สุดได้แค่นี้ เหตุปัจจัยมันสงเคราะห์แล้ว มาตามความเป็นจริงนั้นๆ เปลี่ยนไม่ได้หรอก  ถ้าจะเปลี่ยนก็เปลี่ยนจิตซะ ภายนอกเลิกเปลี่ยนเขาได้แล้ว เลิกคิดจะไปเปลี่ยนภายนอก มาเปลี่ยนปัญญาในจิต มาเปลี่ยนความเห็นในจิตซะ 

เลิก ล้ม ละ ความคิดความเห็นต่างๆ นานา เลิกคิดออกไปไกล เลิกคิดไปยาว เลิกคาดหวัง เลิกเอาอดีตมาเป็นหนามทิ่มแทงใจ  เลิกให้หมด ละให้หมด ไม่เอาอะไร  กลับมาเหลือตัวเปล่าๆ ใจเปล่าๆ ที่มีอยู่ตรงนี้ เดี๋ยวนี้ ขณะนี้  ...รู้ตรงนี้ 

ฟุ้งซ่าน รำคาญมาก ก็กลับมารู้กาย ยืน เดิน นั่ง นอน ดูอาการอยู่กับกายนี้ อย่าให้มันหนีจากปัจจุบัน เผลอเพลินหายไป  รู้ตัวเมื่อไหร่กลับมาระลึกรู้เห็นกาย อาการของกายก่อน กำลังยืน กำลังเดินอะไร ให้มันอยู่กับการเห็นกายต่อเนื่องไป

ขยันทำอย่างนี้บ่อยๆ สติมันจะต่อเนื่อง มันจะต่อเนื่องเป็นปัจจุบันๆ ต่อเนื่องกันไป  ...แล้วไม่ต้องถามหาทุกข์อ่ะ และไม่ต้องถามหาวิธีการแก้ทุกข์ หรือวิธีการว่าจะพ้นทุกข์ยังไง ... ขอให้ทำได้แค่นี้แหละ มันเข้าใจในตัวของมันเองแหละ

แต่ก่อนเราว่า เรารู้ เราเก่ง เราฉลาด  สุดท้ายเราจะรู้เลยว่า ไอ้เแต่ก่อนเราโคตรโง่เลยว่ะ  ...ไอ้ที่เดี๋ยวนี้บอกให้โง่เข้าไว้ ไอ้นี่ฉลาดที่สุดแล้ว ฉลาดในการอยู่ในโลกนี้ แบบพอดีและเป็นกลาง 

ไม่ใช่ว่าอยู่อย่างนี้แล้วมันจะไม่เป็นทุกข์นะ เข้าใจมั้ย  อยู่ปัจจุบันกับปัจจุบัน มันก็เป็นทุกข์ มันก็มีทุกข์อยู่รอบข้าง อยู่รอบตัวเลย  ...แต่เราอยู่กับทุกข์ได้โดยสันติ  เข้าใจคำว่าสันติมั้ย ไม่มีปฏิฆะไม่มีราคะกับมัน คือไม่มีความพอใจหรือไม่พอใจกับมัน นี่ มันจึงอยู่ได้ในทุกสถานการณ์ที่เป็นไป 

ไม่ว่ามันจะขึ้นไปขนาดไหน ไม่ว่ามันจะลงขนาด  เหตุการณ์มันจะดีอย่างที่เราคาดไว้ หรือแย่เกินกว่าเราจะคาดไว้ก็ตาม  จิตมันก็มองเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา ... เพราะอะไร เพราะเดี๋ยวมันก็เปลี่ยนไป..เดี๋ยวมันก็เปลี่ยนไป 

เคยพอใจอะไรสูงสุดมั้ย  เดี๋ยวนี้มันยังอยู่มั้ย...หายไปแล้ว  เคยเกลียดอะไรสูงสุดมั้ย...เคย เดี๋ยวนี้อยู่มั้ย...หายไปแล้ว  เห็นมั้ย มันเหลือแค่อะไร เหลือแค่ความจำ เป็นแค่ความจำได้แค่นั้นเอง  เดี๋ยวมันก็เกิดใหม่ เดี๋ยวมันก็มาใหม่ เดี๋ยวมันก็เปลี่ยนไป เปลี่ยนมา เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา มันไม่มีอะไรคงที่หรอก เห็นมั้ย  อย่าไปลุ่มหลงกับอาการที่มันผันแปรอยู่ตลอดเวลา

กลับมารู้ กลับมาเท่าทันเหตุในปัจจุบันเท่านั้นแหละ แล้วก็ละปัจจุบันไปเรื่อยๆๆ  รู้อะไรก็ละตรงนั้น รู้ตรงไหนก็ละอยู่ตรงนั้น คอยละ ไม่เอาๆๆ ... รู้ทิ้ง ไม่ใช่รู้เอา ไม่ใช่รู้ไปมี รู้ไปเป็น  รู้ทั้งหมดเพื่อทิ้ง เพื่อไม่เอา เพื่อไม่มีและก็เพื่อไม่เป็น 

มันจะเอาอะไรก็รู้ อื๊อ ไม่เอา มันจะมีอะไรให้มีอะไรขึ้นมา รู้เข้าไปว่ามันอยากมีอะไรขึ้นมา ก็ไม่เอา มันจะรู้เพื่อให้เกิดอะไรขึ้นมา ก็ไม่เอา รู้เฉยๆ อย่างเดียว  รู้เฉยๆ วางให้หมด ไม่มีอะไรเหลืออยู่ในใจเลยแหละ แค่นั้นแหละ

การปฏิบัติก็มีอยู่แค่นี้ ทั้งหมดน่ะ ... ไม่ว่าใคร ไม่ว่าปุถุชน ไม่ว่าพระอรหันต์ ท่านก็ทำอยู่แค่นี้แหละ  รู้แล้วก็ละออก รู้แล้วก็ละออก ปล่อยหมด  ปล่อย...ไม่เอาอะไรไว้เลย  ตัวก็ไม่เอา ศักดิ์ศรีก็ไม่เอา ความเห็นก็ไม่เอา ความคิดก็ไม่เอา ตัวตนก็ไม่เอา จิตก็ไม่เอา สภาวะก็ไม่เอา มรรคก็ไม่เอา ผลก็ไม่เอา 

คือสุดท้ายไม่เอาอะไรเลย กลายเป็นอะไรก็ไม่รู้  กลายเป็นธรรมชาติที่ตั้งอยู่ ไม่ใช่ของใคร ไม่ใช่เพื่ออะไร ไม่ใช่มีชีวิตเพื่ออะไรหรือได้อะไร  แต่เป็นชีวิตที่เป็นไปตามเหตุและปัจจัยของเขา ไม่ใช่เรื่องของเรา

เห็นต้นไม้ต้นไร่นี่ เขาเกิดขึ้น เขาไม่ได้มีความปรารถนาอะไรทั้งสิ้น เห็นมั้ย เขาเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย เขาก็อยู่กันไปจนแก่ จนตาย ตายตามอายุขัยบ้าง โดนพายุพัดโค่นบ้าง โดนไม้อีกต้นล้มหักแล้วก็มาโค่นใส่มันบ้าง เขาก็ไม่ได้เดือดเนื้อร้อนใจ เขาก็ไม่ได้ว่าเขาจะอยู่เพื่ออยู่ยั้งยืนยงหรือต้องไม่มีอะไรมาแผ้วพานมัน เห็นมั้ย เป็นธรรมชาติอันบริสุทธิ์ที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไปเองของเขาอย่างนี้

เนี่ย วาระสุดท้ายของนักปฏิบัติหรือพระอริยะ ท่านก็กลับไปคืนสู่ธรรมชาติ เป็นธรรมชาติอย่างนี้  ไม่ได้เดือดเนื้อร้อนใจกับอาการที่แปรเปลี่ยน เป็นไปบ้าง ไม่เป็นไปบ้าง อย่างที่เราคิดหรือคนอื่นคิด  แต่ท่านก็ยอมรับได้หมดน่ะ จะเป็นยังไงก็เป็นยังงั้น เพราะว่าท่านไม่ได้มีความปรารถนาว่าจะอยู่เพื่ออะไร หรือได้อะไร หรือต้องเป็นอะไร

แต่กว่าที่จะวางจิตหรือเข้าสู่ปัญญาขั้นสูง ขั้นปล่อยวางถึงที่สุดนี่...เราต้องเริ่มจากตรงนี้ เริ่มจากอยู่กับปัจจุบัน แล้วก็ละปัจจุบัน ไม่คำนึงถึงอดีตและอนาคต ไม่คิดไปในอดีตหรืออนาคต ...รู้เท่าทันความคิด แล้วก็ไม่คิดต่อ 

แต่ว่าตอนนี้ขณะนี้ เวลาเรารู้ว่าคิด มันยังหยุดไม่ได้ ห้ามไม่ได้ในความคิด และมันยังคิดว่าสำคัญอยู่  ถ้าไม่คิดแล้วจะแย่ ถ้าไม่คิดแล้วเขาจะล่วงล้ำก้ำเกินเรา แล้วเราจะเตรียมตัวเตรียมใจไม่ถูก ยังงี้  เราก็ให้ค่ากับมันอยู่กับความคิด มันจึงไม่ยอมละความคิดซะที

แต่ต่อไปๆ เมื่อมีปัญญามากขึ้น มันจะรู้ว่ากูนี่จะคิดไปทำไม  มันเห็นความคิด เริ่มเห็นความคิดไม่สำคัญแล้ว มันจะเริ่มคลายออกจากเจตนาคิด จงใจคิด หรือว่าคิดเพื่อให้ได้อะไร หรือว่าคิดเพื่อให้เตรียมตัวเตรียมใจอย่างไร มันจะเริ่มไม่เห็นความสำคัญของความคิดแล้ว วาง..มันเริ่มวางแล้ว  ปัญญามันเริ่มวางแล้ว...วางความคิด ไม่คิดแล้ว 

ว่ากันไป...ว่ากันไปแบบ Live  สดๆ เอากันแบบสดๆ ขณะๆ แบบไลฟ์คอนเสิร์ตน่ะ ไม่อัดเทปไม่ดูซ้ำซาก  ดูตรงนั้น จบแล้วจบเลย ขณะนั้นมันจะมีเหตุการณ์อะไร ว่ากันแบบไลฟ์ๆ อ่ะ แล้วก็จบ ...จบแล้วก็จบไป อย่างนี้ จะอยู่กับความเป็นจริงในปัจจุบันเท่านั้น ไม่อยู่กับความเป็นจริงในอดีตและอนาคต 

เพราะความจริงในอดีตและอนาคตที่เราคิดว่าจริงน่ะ...มันไม่จริง มันเป็นเงา มันเป็นมายา มันเป็นภาพหลอน มันเป็นภาพลวงตา มันเป็นภพที่เราคะเนเอาเท่านั้น หาความแน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่ได้ 

แต่ความคุ้นเคยความเคยชิน เราใช้ความคิดมาตลอดตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่เรียนหนังสือ ตั้งแต่ก่อนเกิด ตั้งแต่เกิดในชาตินู้นๆๆ  มันชินกับความคิด ต้องใช้ความคิดอยู่ เป็นตัวพาวิถีกายวิถีจิตไป  จนมาชาติปัจจุบันภพปัจจุบันจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ มันก็ยังใช้ความคิดเป็นตัวนำ เป็นตัวแก้ปัญหา แก้ปัญหาด้วยความคิด แก้ปัญหาด้วยอารมณ์  แก้ด้วยความหลง แก้ปัญหาด้วยการปล่อยปละละเลย ไม่ได้แก้ปัญหาด้วยความรู้

ความรู้คือรู้...คือสติ รู้เฉยๆ รู้ในทุกอาการนั่นแหละ  วิธีนี้คือการแก้ปัญหาที่พระพุทธเจ้าท่านแนะนำ และเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดที่สุด คือกลับมารู้ในปัจจุบันน่ะ มันจึงจะอยู่ที่เหตุที่แท้จริงของปัญหา ไม่ใช่ไปแก้ที่นอกตัวเหตุ  ...ไปแก้ที่คนนั้น ไปแก้ที่คนนี้ เขาด่ามา เราก็..ทำยังไงจะไม่ให้เขาด่า เราก็จะต้องพูดหรือไปด่าเขาก่อน หรือด่าให้แรงกว่าเขาเพื่อให้เขาหยุดพูด นี่แก้ภายนอก

แต่ถ้ารับฟังด้วยอาการสงบปุ๊บ เราแก้ที่ใจ  เขาด่ามา...พอใจหรือไม่พอใจ หรือยิ้มหรือไม่ยิ้ม  เรากลับมาแก้ตรงนี้ ตรงนี้คือที่ตั้งของปัญหา  เสียงไม่ใช่ปัญหานะ คนอื่นไม่ใช่ปัญหานะ...แก้ไม่ได้  เขาไปเดี๋ยวเขาก็มาอีก เขาไปแล้วเขาไปคิดว่าวันนี้มันด่าได้ไม่เต็มที่เพราะเราด่ามันแรง  เดี๋ยวมันก็ไปนั่งคิดนั่งจดว่าเดี๋ยวกูจะมาด่ามันยังไงดี เดี๋ยวก็จะมาหาทางเอาคืน แล้วมันก็มาอีก ...มันไม่จบ เห็นมั้ย 

แล้วเราก็หาวิธีที่จะเอาชนะกันต่อ หรือว่าหาทางที่จะทำยังไงไม่ให้มันเข้ามาอีกนานๆ  อย่างนี้ ไอ้แก้อย่างนี้ แก้แบบเด็กเล่นขายของอ่ะ  แล้วสมมุติว่าใครแก้ได้ก็เอามาคุยกัน โม้กัน เมาท์กัน 'ชั้นนี่..มันมานี่ชั้นนี่ยังงี้เลย'  เพื่อนก็ 'อู้หูย เธอเก่งจัง มีอะไรก็แนะนำกันบ้าง' (โยมหัวเราะกัน) ...หาวิธีจะไปกัดเขาอ่ะ กำหราบเขา อะไรอย่างเนี้ย เห็นมั้ย มันจะไม่จบสิ้นเลย 

แต่ถ้ากลับมารู้ตรงนี้ ยอมรับซะ วางด้วยอาการดุษฎี  พอใจไม่พอใจ หงุดหงิดรำคาญ หงุดหงิดๆ โกรธ จะโต้ตอบ  มันจะพยายามทะยานออกไปด้วยคำพูด ด้วยการกระทำ สะบัดหน้า ค้อน หรือทำกระฟัดกระเฟียดหรืออะไรก็ตาม  ดูอาการที่มันดิ้นผลักดัน  ให้เท่าทันอยู่ตรงนั้น...อดทนนะ แต่ว่าต้องอดทนนะ  เพราะเหมือนหม้อน้ำที่กำลังเดือดน่ะ แล้วมันพร้อมที่จะไปราดเขาได้


โยม –   ใช่ ราดเลย  

พระอาจารย์ – อือ มันไม่ทัน สติมันน้อย สติมันอ่อน ความอดทนมันน้อย  แล้วมันคิดว่าแก้ยังงี้ได้ผลเร็ว ได้ผลทันที  ด่ามา..ปากนี่เป็นอาวุธใส่ก่อน หรือการกระทำอะไรก็ตาม มันจะคิดว่ามันได้ผล...สะใจ    


โยม –   ค่ะ  

พระอาจารย์ –  เกิดความพอใจ แล้วก็คลายโกรธได้ทันที อย่างเนี้ย  ...แต่ถ้าอยู่เฉยๆ อย่างนี้ มันคลายโกรธไม่ได้ เหมือนกับขังโกรธแล้วอึดอัด ขี้ไม่ออกเยี่ยวไม่ออก กูตายแน่ ถ้าไม่ได้พูดไม่ได้ด่ามันตอบนี่ กูนอนไม่หลับไปข้ามวันข้ามคืนเลย ... 

ต้องอดทนนะ เข้าใจมั้ย พระพุทธเจ้าบอกให้แก้อย่างนี้ก่อน  แรกๆ มันจะอึดอัดคับข้อง เดือดร้อน กังวล วิตก กลัวเสียศูนย์เสียเซลฟ์ เสียความเป็นตัวตน เสียความเป็นเรา เสียอำนาจอธิปไตยแห่งเรา ถูกคนล่วงล้ำอธิปไตยอย่างยิ่ง มันนอนไม่หลับๆ    


โยม – ลุกเลย ทันที    

พระอาจารย์ – อย่างนี้แหละ ต้องอดทนก่อน  ...ครั้งแรกอาจจะยาก ครั้งแรกอาจจะต้องใช้กำลังในการฝืนอดทนอยู่กับมัน จนกว่ามันจะระงับ และเห็นความระงับไปเองของมัน...บ่อยๆ นะ ไม่ใช่ครั้งเดียวหายนะ  ต้องมีความเพียร พากเพียร ไม่ใช่ทำครั้งแรกได้ เออ สบายใจ ..เจอครั้งใหม่ ไม่ทันตั้งตัวเลย กูใส่เต็มที่ อย่างนี้ไม่ได้ เข้าใจมั้ย 

มันต้องฝืน อดทน อดกลั้นอยู่ตลอดอย่างนี้  แล้วก็สตินั่นแหละเป็นตัวป้องกัน หรือว่าระวังในอาการทางกิริยา ทางวาจาและก็ทางกาย  ส่วนในใจพอรู้ปุ๊บว่าโกรธ ปั๊บ มันจะมีความคิด คิดปรุงแต่งหาวิธีการต่างๆ นานา ...ต้องรู้ทันแล้วอย่าไปคิดมาก อย่าไปคิด ยิ่งคิดยิ่งร้อน ยิ่งคิดยิ่งร้อน ให้รู้ไว้เลย 

ยิ่งหาทางแก้หาทางเอาคืน หาทางป้องกัน หาทางจะอย่างนั้น ทำอย่างนี้ นั่นแหละ มันจะเกิดอาการกระวนกระวาย กระสับกระส่าย ดิ้นรน ผุดลุกผุดนั่ง เกิดวิพากษ์วิจารณ์ หาถูกหาผิด หาว่าเรา...คือส่วนมากเวลาคิดน่ะ เวลามันปรุงขึ้นมานี่ เราถูกลูกเดียว มันน่ะผิดหมดทั้งโลก กูนี่แหละถูกที่สุดในโลก


โยม –    ใช่ฮ่ะ 

พระอาจารย์ –  ไอ้พวกมึงนั่นแหละผิด มึงทำไม่ดีกับกู เนี่ย มันจะคิดแบบความเห็นแบบเข้าข้างตัวเอง แล้วก็สนับสนุนให้มี ให้ผลักดันออกเป็นวาจาหรือทางกาย เป็นกายกรรม วจีกรรม ซึ่งเป็นอกุศลกรรม เป็นการจองเวรหรือเป็นการผูกเวรผูกกรรม ...แล้วมันไม่จบ 

สุดท้ายก็เป็น ทีฮูทีอิท น่ะ ทีมึง..ทีกู ทีมึง...ทีกู  เอ้า กูเสือกตายก่อนเว้ย มึงอยู่ไปก่อน เดี๋ยวกูมาเกิดใหม่ มันก็เกิดตามมา แล้วก็มาตบกบาลเราตอนที่เราเป็นเด็กเงี้ย.. เอ้า มันตายก่อน เราอยู่เว้ย เราชนะมัน  เดี๋ยวมันก็เกิดมาเป็นเด็ก ก็มาตบกบาลเราตอนเป็นผู้ใหญ่  ...มันสลับกันอยู่อย่างเนี้ย มันจะไม่จบไม่สิ้น เข้าใจมั้ย

แต่ถ้าเรายอมรับซะ ด่าได้ด่าไปๆ เขาจะทำยังไง ล่วงล้ำยังไง  ยอมรับแล้วก็มาแก้ที่ใจ แก้ของเรา ระงับ คอยดูอาการขึ้นลง พุ้บๆๆๆ ของเรา ในความโกรธ ในความอะไรต่างๆ นะ  นี่คือวิธีการ...ทุกเรื่องราว 

ไม่ใช่เราพูดแค่อารมณ์โกรธนะ  อารมณ์รักใคร่พอใจ อารมณ์ตื่นเต้นดีใจ หรือว่าได้สมประสงค์  อู้หูย ยิ้มแป้นทั้งวัน หรืออะไรอย่างนี้ก็ตาม  อย่าไปยึดอะไรกับมันมากมาย  ก็แค่รู้เท่าทันว่าพอใจมากๆ ก็ดูอาการเฉยๆ ไม่ต้องดิ้นรน หรือว่าคิดว่ามันจะเป็นยังงั้นตลอดไป อย่าเอาความคิดเข้ามาวิพากษ์วิจารณ์มัน

รู้อยู่เฉยๆ กับอาการที่มันขึ้นๆ ลงๆ นั่นแหละ  แต่ให้รู้ภายในนะ แล้วมันจะปรับอาการทางกายวาจาให้เป็นสมดุล เป็นกลาง ให้เป็นสงบสันติ  อย่างน้อยก็ไม่ได้เข้าไปโอบกอดกับคนโกรธ ก็อยู่เฉยๆ ก็ดีแล้ว ไม่ต้องถึงขั้น แหม เข้าไปแสดงความอภิเชษฐ์กับผู้ที่มาด่าเรา โหย ไอ้นี่บ้าเกินแล้ว ไม่จำเป็น เข้าใจมั้ย 

แค่เราอยู่ในอาการสงบ ระงับกายวาจา อาจจะหน้าบึ้งหน้าตึงบ้าง ก็ยังดีกว่าไปด่าหรือไปกระทำอะไรให้เขาผูกโกรธมากขึ้น อย่างนี้  หรือในอาการสมัครรักใคร่อะไรก็ตาม ก็เอาเป็นกลางๆ อย่าให้มันมีการผูกพันมากเกินไป

ทุกข์ทั้งขึ้นทั้งล่องน่ะ ไม่ว่าพอใจหรือเสียใจ  กับคนรัก กับคนที่เราไม่ชอบ เหมือนกันหมด  ให้มันรู้จักปรับให้มันเป็นพอดีๆ เป็นปกติ เป็นธรรมดามากขึ้น  แล้วสุดท้ายน่ะ จิตมันจะมีกระแสเมตตาตลอดเวลา มีความเมตตา มีความปรารถนาดี  ลึกๆ มันจะเป็นอย่างนั้น 

จะไม่โกรธ จะเห็นเป็นเรื่องตลก ในอาการพวกนี้ เห็นเป็นเรื่องเด็กๆ เห็นเป็นเรื่องคนไม่รู้ เห็นเป็นเรื่องคนที่ยัง...เรามองเห็นอาการของคนที่เขาแสดงอาการนี่ เราก็จะเห็นด้วยความสังเวชลึกๆ ว่า 'เออ มันยังต้องมาอีกไม่รู้กี่ร้อยกี่พันชาติ เพราะอาการพวกนี้ เราสมควรดีใจแล้วที่เราไม่มาผูกเสี่ยวกับมันอีกล้านชาติอย่างนี้'  เข้าใจมั้ย  มันก็จะเห็น เริ่มรู้สึกมุทิตาจิต เออ นี่แหละสงเคราะห์  

เพราะนั้นการที่เราไม่โกรธเขานี่แหละเราสงเคราะห์เขาได้ระดับนึงแล้ว  เหมือนกับเราลบเคสเราออกจากใจเขาไป คือเขาไม่สามารถมาต่อเนื่องกับเราได้  แล้วเราก็ลบเคสของเราออกไปเรื่อยๆ จากบุคคลรอบข้าง พ่อแม่พี่น้อง แฟน ลูกค้า คนเดินผ่านไปมาในถนน จนคนต่างประเทศที่รู้จักหรือไม่รู้จัก  จนวัตถุข้าวของ เหตุการณ์ต่างๆ ก็จะลบเราออกจากเหตุการณ์ได้หมด 

ความเป็นตัวเป็นตนของเราก็จะเลือนหายไปจากโลกนี้  ความมีตัวมีตนของเราก็จะมีค่าน้อยลงไปๆ  ไม่ใช่เราอยู่เพื่อสร้างตัวตนให้แข็งแกร่งขึ้นๆ ให้เป็นที่จดจำระบือนาม การกระทำของเรานี่อยู่ค้างยืนไปอีกร้อยปีมันยังจารึกเป็นประวัติศาสตร์  ไอ้อย่างนี้มันแสดงความเป็นเจ้าของหรือตัวตน 

เพราะฉะนั้น มันจะมีชีวิตเพื่อความจางคลายออกไป...จากความมี ความเป็นของตัวตนของเราไป กลายเป็นคนธรรมด๊า  ธรรมดาๆๆๆ จนหมดสิ้นไปเลย ไม่มีค่า ไม่มีสาระ พอที่ใครจะให้ค่าให้ความสำคัญอะไร  

นั่นแหละ กลับมาเป็นก้อนอิฐ ก้อนหิน ก้อนทราย ที่ใครก็เดินเหยียบข้ามผ่านไปธรรมด๊าธรรมดา  ไม่ใช่จะต้องมีความแข็งแกร่งของอัตตาตัวตนอยู่ไปตลอดชีวิต


(มีต่อ แทร็ก 2/2)
 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น