วันพุธที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

แทร็ก 2/30 (3)


พระอาจารย์
2/30 (530918C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
18 กันยายน 2553
(ช่วง 3)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 2/30  ช่วง 2
http://ngankhamsorn2.blogspot.com/2017/02/230-2.html )

พระอาจารย์ –  เอ้า ได้เวลาแล้วมั้ง

โยม –  กราบเรียนถามหลวงพ่อเจ้าค่ะ พอดีมีคนจะขอซีดีหลวงพ่อ

พระอาจารย์ –  เอาไปทำไม


โยม –  ก็ตอนนั้นโยมก็เตรียมจะให้ พอหลุดปากมา โยมก็เลยหันกลับมาว่าเครื่องคอมเสีย โยมก็เลยว่าต้องถามหลวงพ่อก่อน

พระอาจารย์ –  ไม่เป็นไร


โยม –  ให้เลยก็ได้ใช่ไหมเจ้าคะ

พระอาจารย์ –  ไม่ให้


โยม –  ไม่ให้นะเจ้าคะ (หัวเราะกัน) ...เลยต้องมาเรียนถามหลวงพ่อก่อน

พระอาจารย์ –  ไม่ต้องให้หรอก ...เพราะว่าเวลาเราพูดนี่ ถ้าไปฟังดูให้ดีนะ เราพูดแรง และเราพูดค่อนข้างจะไม่ไว้หน้าใคร เราพูดให้เฉพาะสำหรับคนที่เคยฟังแล้วเข้าใจเท่านั้น 

สำหรับคนที่ไม่เคยมาพบเรา ไม่เคยมาฟังเราโดยตรง จะตีความความหมายของเราเข้าใจผิดหมด เพราะจะไปตีความโดยพยัญชนะ ไม่ได้ไปตีความโดยอรรถ เข้าใจมั้ย

แต่ที่เราพูดนี่เราพูดโดยความหมายของเชิงอรรถ โดยรวม ...เพราะนั้นเราไม่ได้ว่าใครโดยตรง แต่คำพูดอาจจะดูเหมือนว่าคนนั้น ว่าการปฏิบัติเช่นนั้นเช่นนี้

แต่พูด...เราพูดในลักษณะให้เข้าใจซึ่งการปฏิบัติ ...ก็ช่าง ตามความพอใจสำหรับคนที่ไม่ยอมรับ เราไม่เคยปฏิเสธการนั่งสมาธิ การเดินจงกรม การกำหนดพิจารณา ...แต่เราพูดว่ามันยากแค่นั้นเอง

ไม่ได้หมายความว่าทำไม่ได้ หรือไม่ได้ผล หรือจะไม่ได้เข้าสู่มรรคจิตมรรคญาณ...ได้ทั้งนั้นแหละ แต่ว่ามันยากสำหรับคนทั่วไป จึงเสนอวิธีการหรือแนวโน้มแนวคิดในลักษณะเช่นนี้ 

แต่ว่าคำพูด..อุปนิสัยการพูดของเรา...แรงงงง  ค่อนข้างจะดูเหมือนว่า...แหม คัดค้าน หรือว่าปฏิเสธหัวเด็ดตีนขาดอะไรประมาณนั้น

แต่เราพูดด้วยความจริงใจ จริงจัง ให้กลับเข้ามาอยู่ที่ใจ แก้ปัญหาที่ใจดวงเดียว ไม่ไปแก้ที่อื่น ไม่ไปทำอันอื่นขึ้นมาแก้ใจ ...ใจมันแก้ในตัวของมันเอง แค่นั้นเอง

แต่สำหรับผู้ที่..คนฟังที่ยังยึดมั่นถือมั่นในรูปแบบ วิธีการ ...อันนี้ต่างหาก ที่มันจะก่อให้เกิดการเป็นปฏิฆะ เกิดการแบ่งแยก แล้วจะเกิดการปรามาสกัน

เราไม่กลัวการปรามาส แต่เราถือว่าการปรามาสนั่นแหละจะก่อให้เกิดการลบหลู่พระธรรมไปโดยปริยาย มันไม่มีผลดีหรอก เราบอกให้เลย มันไม่มีผลดีหรอกในการที่เอาตีนไปลูบคำสอนของพระพุทธเจ้าน่ะ 

การกระทำมันเป็นเช่นนั้นจริงๆ แต่ว่าเราพูดไม่ได้ตรงๆ เพราะการที่เขาพูดกระแนะกระแหนกันน่ะ เหมือนเอาตีนน่ะไปลูบพระธรรม มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ

แล้วมันกลับลำพองโอ้อวดโอหังอหังการ คิดว่าตัวรู้ตัวเก่งตัวดี ด้วยความหมายมั่นยึดมั่นถือมั่น ตรงนั้นน่ะมันก่อให้เกิดเป็นกรรม

แล้วยังสร้างกรรมกับคนทั่วไป ด้วยการไปผูกความเห็นนั้นให้ดูเหมือนจริงจังว่า กูเป็นคนถูกคนนั้นผิด ...เราถึงเรียกว่าเป็นโทษของการปรามาสธรรม ...ไม่ดี

แต่ว่าในลักษณะที่ว่าเราฟังกันในหมู่กันเอง สำหรับผู้ที่เข้าใจ ผู้ที่มีปัญญาในระดับที่ยอมรับในการที่ยอมที่จะเลิกละ ในสิ่งที่ควรจะเลิกละ และก็เห็นว่าน่าจะเลิกละ หรือว่าวางซะ

กลับมาทำความรู้จำเพาะใจ แค่เนี้ย สำหรับผู้ที่ยอมรับ ผู้ฟังแล้วจะยอมรับแล้วจะเข้าถึงใจ แล้วจะเห็นผลได้ในปัจจุบัน...เราพูดเลยว่าการที่รู้ที่ใจ จะเห็นผลได้ในปัจจุบัน

ไม่ต้องรอชาติหน้า ไม่ต้องรอปีหน้า ไม่ต้องรอวันเดือนปีข้างหน้า ...มันจะเห็นอยู่ตรงนี้ รู้อยู่ตรงนี้ เห็นผลตรงนี้ คือไม่มีอะไร มันจะดับลงตรงนี้

ดับอาการ...การทะยานอยาก การเข้าไปหมายมั่นในอดีตอนาคต ลงที่นี้ที่เดียว จะเห็นผลทันตา ...เพราะว่านี่คือปรมัตถ์ นี่คือปรมัตถธรรม นี่คือปรมัตถบารมี เป็นสัจจะปรมัตถ์..ปรมัตถสัจจะ

ไม่ใช่สมมุติสัจจะ  เราไม่ได้สอนให้อิงสมมุติสัจจะ แต่ไม่ปฏิเสธสมมุติสัจจะ ...แต่เราสอนไม่ให้ไปอิงกับสมมุติสัจจะ ให้อิงกับปรมัตถสัจจะ

คือใจที่ไม่มีภาษา ไม่มีบัญญัติ ไม่มีสมมุติ มีแต่รู้  รู้ กับรู้ แล้วก็เห็น แค่นั้นเอง ...เพราะทุกสิ่งทุกอย่างมันยืนอยู่บนปรมัตถสัจจะ ไม่ได้ยืนอยู่ด้วยสมมุติและบัญญัติ

เพราะฉะนั้นการเผยแผ่ มีคนเผยแผ่เยอะแล้ว เราไม่ต้องเผย เราไม่ต้องแผ่ ...จริงๆ เราไม่ต้องการปริมาณเลยนะ เราต้องการคนที่รู้จริงเห็นจริงแล้วยอมรับจริง และเห็นผลกันจริง

น้อยกลับดีนะ เราเห็นว่ามาโดยธรรม เป็นไปโดยธรรมและเพื่อธรรม  เราไม่เอาว่าต้องรู้มาก ต้องมีการกระจายออกไป แต่ให้รู้ให้จริงเหอะ...รู้น้อยแต่ให้รู้ให้จริง

แล้วยอมรับและฝึกจริง ...รู้จริง ไม่ใช่แค่เข้าใจหรือรู้ ต้องเอาไปปฏิบัติจริง จนเห็นผลน่ะ อันนั้นน่ะเราเอาผลตรงนี้มากกว่า ไม่เอาปริมาณ

ไม่มีสาระ...ปริมาณน่ะ มันเอาไปเป็นแค่ฟังพอรู้ๆ กันไป  พอได้รู้ว่า..เออ ฉันเคยฟังมาแล้ว เหมือนลูกศิษย์บางอาจารย์น่ะ บานเลย ก็พอได้พูดว่าเป็นลูกศิษย์ท่าน

แต่ทำจริงขนาดไหนอ่ะ แค่ไปรู้ไปฟัง ไปได้ยิน แล้วก็...เออ ชั้นเคยทำแล้ว ไม่เห็นได้ผลเลย อะไรอย่างนี้ ...มันทำแค่ไหนล่ะ อย่างนี้น่ะ ไม่เอา เข้าใจมั้ย

คนที่มานี่น่ะ ต้องฝ่าฟันดั้นด้นมาเอาเอง ...ธรรมะเราไม่ได้ยัดเยียด เป็นการน้อม ต้องน้อมเข้ามา น้อมเข้ามานะ ไม่มีศรัทธา..อย่ามา  ไม่ใส่ใจ ไม่มีการใคร่ครวญก่อนแล้ว..อย่ามา

เพราะเราไม่ได้เรียกร้องให้ใครมา ธรรมพระพุทธเจ้าท่านบอกแล้วเป็นโอปนยิโก แม้แต่การสอนเราก็ให้โอปนยิโก ถ้าไม่มาเราไม่ไป ดึงเราไป... “กูก็ไม่ไป”

อยู่ที่เดียว อยู่ในที่อันเดียว ...ก็สอนแล้วว่าอยู่ในที่อันเดียว ไม่ไปอยู่ในที่ทั้งหลายทั้งปวง ...ก็อยู่ในที่อันเดียว กูก็อยู่ในที่อันเดียว

อยากมาก็ต้องมาเรียนรู้การอยู่ในที่อันเดียว ไม่ข้องแวะ ไม่ส่ายแส่ ไม่ออกไปหา ไม่ออกไปทำ ..แค่นี้ เป็นการสอนในตัวอยู่แล้ว นะ

ธรรมะจะเกิดขึ้น จะกระจายได้ด้วยการโอปนยิโก..น้อมเข้ามา ไม่ใช่ออกไป..เป็นมมังโส  ไม่ใช่การแจกทานที่หว่านไปทั่ว มีเงินแล้วก็หว่านไป แล้วก็ใครแย่งได้ก็เอาไป ไม่มีประโยชน์

เขาเอามั่ง ไม่เอามั่ง เดินเหยียบเดินทิ้งมั่ง เสียดายน้ำลายให้ตั้งใจมาฟัง ไม่มาก็ไม่ไปหวงห้ามนะ เยอะแยะ ครูบาอาจารย์เต็มประเทศไทย เยอะ หลากหลาย จะเอาแนวไหน

พอใจจะเอาอันไหน กินเข้าไป ทำเข้าไป ...ทำให้จริงเหอะ ได้ผลยังไงเดี๋ยวมันก็ทะลุกันไปเอง มันก็ผลักดันกันไป สงเคราะห์กันในธรรม  ไม่ต้องกลัวหรอก ไม่อดตายไม่อดอยากหรอกการปฏิบัติธรรม

แล้วมันจะมีครรลองของมัน สงเคราะห์ไปเรื่อยๆ ..มีเหตุปัจจัยให้มาเจอ มาพบ ให้เข้าสู่ปัญญาญาณอยู่แล้ว จะช้าหรือเร็วแค่นั้นเอง แต่ว่ามันไปอยู่แล้ว...ไม่ต้องกลัว

เราถึงได้ไม่คัดง้างกับใคร หรือคิดว่ามันถูกมันผิดมากมายก่ายกอง ...แต่เพียงมาแนะแนวให้ตรง แนะจากที่เคยเข้าไปให้ค่ากับการกระทำ วิธีการปฏิบัติ

หรือให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ หรือวิถีความเป็นอยู่ หรือวิถีชีวิต ...เอามาเป็นเรื่องใหญ่สำหรับมาคัดกรองการปฏิบัติ หรือเป็นตัวจำกัดจำเพาะ

ว่าการปฏิบัติในชีวิตที่เป็นอยู่...ไม่กลมกลืนและไม่สามารถปฏิบัติได้เราจะมาให้เข้าใจว่าการปฏิบัติไม่เลือกกาลเวลา สถานที่และบุคคล

สติที่แท้จริงพระพุทธเจ้าสอน ไม่เคยบอกว่าจะต้องอยู่ที่ใดที่หนึ่ง หรือว่าจำเพาะสภาวะใดสภาวะหนึ่ง เหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง จึงจะเกิดสภาวธรรมหรือเห็นสภาวธรรมตามความเป็นจริง

ท่านบอกเป็นอกาลิโก ...แต่ทำไมนักปฏิบัติชอบเลือกสถานที่ ชอบเลือกบุคคล ชอบเลือกสภาวะรอบข้าง ชอบสร้างสัปปายะส่วนตัว ธรรมก็เลยจำกัด ธรรมก็เลยจำเพาะ

การเข้าถึงธรรมก็เลยไม่ทั่วถึง ไม่กลาง ไม่รอบ ไม่แจ้ง ...มันไปแบบแจ้งๆ ดับๆ แจ้งๆ ขุ่นๆ น่ะ  มันไม่ได้แจ้งแบบโลกวิทู ...ไม่มีกาลเวลา สถานที่ หรือบุคคล จะมาปิดบังใจได้เลย 

สติอยู่...จี้ไปที่ตรงไหน ระลึกขึ้นที่ตรงไหน ใจนี่เปิด ใจนี่ตื่น  เห็นมั้ย มีที่ไหนที่จะมาขวางกั้นใจได้ อ่ะ สภาวธรรมไหนจะมาขวางกั้นใจได้ ไม่มีเลยนะ...ยืนยัน

พ้องความหมายเดียวกับพระพุทธเจ้าบอกว่า อกาลิโก ...เราไม่เคยบอกว่าต้องอยู่คนเดียว เราไม่เคยบอกว่าต้องเป็นนักบวช เราไม่เคยบอกว่าต้องเป็นชาย เราไม่เคยบอกว่าต้องเป็นหญิง

เราไม่เคยบอกว่าต้องถือศีลห้า ศีลแปด ศีลสิบ ...ทำไม สติมีเกิดขึ้นตรงไหน ใจปรากฏตรงนั้น  แล้วก็อยู่ให้ได้ จับใจให้ถูก จับใจให้อยู่

อยู่ที่ใจ...ไม่ได้อยู่ที่อาการหรือขันธ์ทั้ง ๕ หรือขันธ์ทั้ง ๑๐ หรืออายตนะทั้ง ๖ หรือผัสสะทั้ง ๖ ไม่อยู่ ...อยู่ที่ใจ ใจรู้..แล้วก็หัก ณ ที่จ่ายนั้น

อะไรจะออกจากตรงนั้น...หักมันหมด ละมันหมด วางมันหมด ...ไม่เสียดาย ไม่อาลัย ไม่เสียดายกิเลส ไม่เสียดายตัณหา ไม่เสียดายความหมายมั่นในอดีตและอนาคต อย่าเสียดาย

อย่ากลัวไม่ได้ อย่ากลัวไม่มี อย่ากลัวไม่เป็น ...กล้าที่จะละ กล้าที่จะปล่อย กล้าที่จะไม่ต่อเนื่องกับมัน ลองดูซิ เอาให้มันเด็ดเดี่ยวจริงจังลงไปในที่อันเดียว ถึงบอกว่าอย่างน้อยก็นิพพาน อย่างมากนี่...ไม่รู้


โยม –  ท่านอาจารย์คะ ถ้าอย่างงั้น..ที่มันยังไม่ได้เพราะมันยังไม่ถึงเวลางั้นหรือ

พระอาจารย์ –  มันต้องสะสมอินทรีย์..กำลัง นี่อินทรีย์กำลัง ไม่ใช่กำลังสมถะ ...กำลังคืออินทรีย์ อินทรีย์คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และ ปัญญา  สมังคีกัน เป็นกลาง สมดุลกัน

คืออยู่ที่ใจด้วยความศรัทธา อยู่ในที่อันเดียว ...ต้องมีศรัทธานะ ไม่มีศรัทธามันไม่ยอมอยู่นะ มันจะไปอยู่ที่อื่น ...เมื่อมีศรัทธามันก็มีความพากเพียรที่จะไม่ให้ออกนอกรู้ไป ...นี่วิริยะเกิด 

เมื่อมีวิริยะเกิด สติ สมาธิ ปัญญา ก็เกิดตรงนี้  เห็นมั้ย นี่คือการบ่มอินทรีย์  ...เมื่อเราอยู่ตรงนี้ อินทรีย์เริ่มแก่กล้าขึ้น จิตก็มั่นคงมากขึ้น ความชัดแจ้งก็มากขึ้น

ก็แยกได้ว่า อ๋อ อาการๆ ...แต่ก่อนไม่เคยเห็นเป็นอาการ ก็..เออ มันใช่อาการจริงๆ ว่ะ ไม่เห็นมีอะไรเลย ...แน่ะ พอเห็นอาการแล้วก็บอกไม่เห็นมีอะไรเลยว่ะ

แต่ก่อนนี่แทบเป็นแทบตายกับมันน่ะ มันพาขึ้นเขาลงห้วย อู้หูย แทบตายเลยกว่าจะออกจากมันได้ ...แต่พอมารู้..อ๋อ มันเป็นแค่อะไรก็ไม่รู้ เป็นอาการหนึ่งแค่นั้นเอง แล้วไปยุ่งอะไรกับมันตั้งนานวะเนี่ย 

แน่ะ ทิ้งเลย...มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ  บอกจริง ๆ นะเนี่ย  รู้ไปเรื่อยๆ แล้วมันจะแยกออก มันจะแยกออกทุกสภาวะ แล้วมีรู้เดียวเท่านั้นที่เป็นแกนกลาง

ตอนนี้อย่าหา รู้อย่างเดียว ด้วยสติ  มันจะเข้าไปจำแนก จำแนกธรรม เกิดธัมมวิจยะขึ้น มันจะจำแนกโดยการแยกขันธ์ออกจากรู้ แยกกายออกจากรู้ แยกนามขันธ์ออกจากรู้

ตัวนี้สติจะเป็นตัวจำแนกธรรม แล้วสิ่งที่แยกออกจากรู้แล้วมันจะเห็นว่าเป็นไตรลักษณ์เอง แล้วเมื่อเห็นว่าเป็นไตรลักษณ์แล้ว มันจะปล่อย มันจะปล่อยวางอาการ ทั้งหลายทั้งปวง

แต่ตอนนี้ยังอยู่ในขั้นตอนที่สติเรายังอ่อน ยังไม่สามารถจะแยกออกจากบางอาการ และยังไปพะวักพะวนสงสัย ลังเล วิตก กลัว หา แก้...พวกนี้ เราจะจมอยู่กับอาการอย่างนี้ 

แต่พยายามระลึกรู้ รู้ รู้อยู่ในอาการนี้ รู้ว่ากำลังทำอย่างนี้ รู้ไปเรื่อยๆ ให้มันเด่นออกมา มันจะจำแนกออก แยกออก..อ๋อ มันเป็นแค่อาการ...เมื่อไหร่ มันจะวางอาการนั้น กลับมาอยู่ที่รู้ 

แล้วต่อไปมันก็จะมีอาการแปลกๆ ใหม่ๆ ออกมาเรื่อยอ่ะ ...ก็ให้เราเรียนรู้ต่อไป เพื่อจะแยกมันออกมา และเห็นว่าเป็นสักแต่ว่าอาการ

จนกว่าทั้งหลายทั้งปวงของสติปัฏฐาน คือ กาย เวทนา จิต ธรรม ...กายสักแต่ว่ากาย เวทนาสักแต่เวทนา จิตสักแต่ว่าจิต ธรรมสักแต่ว่าธรรม

จิตสักแต่ว่าจิต จิตยังสักแต่ว่าจิตเลย ไม่ใช่ของใคร ไม่ใช่ของเรา ไม่ได้เป็นอะไร มันจะยังไงก็ได้ อะไรก็ได้ นี่สักแต่ว่าจิตแล้ว ...เห็นมั้ย จิตสักแต่ว่าจิต แล้วใครเป็นคนรู้ว่าสักแต่ว่า... นี่ อีกตัวนึงนะ


.................................



แทร็ก 2/30 (2)


พระอาจารย์
2/30 (530918C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
18 กันยายน 2553
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 2/30  ช่วง 1

โยม (อีกคน)   พระอาจารย์ ขอเรียนถามอีกคำถามนึงนะคะ ขออนุญาตญาติธรรม โยมจะถามว่า ผู้ปฏิบัติธรรมที่มุ่งมาทางด้านของคำสอนของพระพุทธเจ้านี่นะฮะ เราควรจะไปหวาดหวั่นกับพวกเดรัจฉานวิชามั้ยฮะ

พระอาจารย์ –  ไม่


โยม –  ไม่ควรจะต้องไปหวาดหวั่นเลยใช่มั้ยฮะ ถึงเขาจะคิดทำร้ายอะไรเราก็ไม่ได้ ใช่มั้ยฮะ

พระอาจารย์ –  ได้ก็ไม่เป็นไร


โยม –  เป็นวิบากกรรมหรือฮะ

พระอาจารย์ –  อือ รู้อย่างเดียว (โยมหัวเราะ) ...คือ ถ้าเราไม่ไปหมายมั่น นะ ไม่ต้องไปวิพากษ์วิจารณ์ในอาการทั้งหลายทั้งปวงที่ปรากฏ...รู้อย่างเดียว ...ทุกอย่างก็คือไตรลักษณ์ ...คือไตรลักษณ์


โยม –  ที่พระอาจารย์พูดมาหมายความว่าโดนแล้วใช่ไหมคะ

พระอาจารย์ –  จะโดนก็ตาม ไม่โดนก็ตาม ก็ไม่รู้ว่าที่มาที่ไปของมันคืออะไร ...หงุดหงิด รำคาญ ขุ่น มัว หมอง กระสับกระส่าย อย่างนี้  ถ้ารู้เฉยๆ มันก็คืออาการ ...แต่ถ้ารู้ไม่เฉย แล้วไปหาอาการว่าที่มาที่ไปของอาการคืออะไร อันนี้


โยม –  เพราะฉะนั้นที่อาจารย์พูดนี่คือมันเบาๆ เหมือนชีวิตประจำวัน  แต่ถ้าถึงขนาดเรียกว่า ทำให้เจ็บป่วยไข้โดยไม่รู้สาเหตุ อะไรพวกนี้น่ะฮ่ะ

พระอาจารย์ –  อือ ก็ช่างมัน ก็คืออาการนึงที่ปรากฏ เราไม่ต้องไปสอบถามหาโคตรพ่อโคตรแม่มันมาจากไหน หรือไปเชื่อว่า นี่ เพราะมันอย่างนี้..ส่งของมาเลย

มันจริงจัง อย่างเนี้ย เขาเรียกว่าไปหมายมั่นเพิ่มขึ้นมาอีก ...แค่รู้เฉยๆ แล้วก็ผ่านไป จะอยู่ก็อยู่ จะไปก็ไป จะมากก็มาก จะน้อยก็น้อย ไม่ให้ความสำคัญว่ามันคืออะไรด้วยซ้ำ

มันก็คืออาการหนึ่ง จะของ-ไม่ของ ไม่รู้ ...สักแต่ว่าอาการ..จบ …แต่ไอ้ที่มันเดือดเนื้อร้อนใจเพราะไป เนมมิ่ง มีนนิ่ง กับมัน และถ้าเนมมิ่ง มีนนิ่ง ในแง่เดียวกัน ย้ำๆๆ มันก็เกิดกลายเป็น อุปาทานหมู่

กลายเป็น Talk of the town.. Talk of the temple ..Talk of  social (โยมหัวเราะ) อะไรอย่างนี้ ...มันก็กลายเป็นเรื่องใหญ่เรื่องโตเรื่องจริงเรื่องจังขึ้นมา

เมื่อเกิดเป็นเรื่องจริงเรื่องจัง เรื่องใหญ่เรื่องโต ...จิตเราจะเกิดเข้าไปอุปาทานจริงจังมากขึ้นๆๆ แล้วเกิดความกลัวมากขึ้น

แต่ถ้าเรามองแบบผ่านๆ น่ะ ไม่ต้องไปหาสาเหตุของมันล่ะ ไม่ต้องไปดูว่าอาการนี้คืออะไร ...มันก็คือเจ็บไข้ได้ป่วยธรรมดา เจ็บหัวตัวร้อนกระวนกระวาย เศร้าหมองขุ่นมัว

ก็มองเป็นเรื่องธรรมดา เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ...จะของไม่ของไม่รู้ เดี๋ยวมันก็ดับ ...ไม่ดับ มันตั้งอยู่ก็เรื่องของมัน ไม่ใช่เรื่องของเรา รู้อย่างเดียวๆ

ไม่รู้..โดนของเปล่า ไม่รู้..ไม่โดนรึเปล่าก็ไม่รู้ เพราะกูไม่เคยให้ค่า ธรรมดา...เหมือนเดินกลางแดดก็ร้อนน่ะ ใครมันเดินแล้วไม่ร้อนล่ะ อย่างนี้

มันก็เป็นเวทนาหนึ่ง อาการหนึ่ง สักแต่ว่าอาการ...มองข้ามไปเลย ...จบ มันไม่จบ..เราจบ มันส่งมาอีก...สมมุติว่าเป็นของนะ ..ส่งก็ส่ง ก็รู้อย่างเดียว ตาย...ตายก็ตาย รู้อย่างเดียว...จบ ต้องจบ

มันจะเป็นไงก็ช่าง รู้อย่างเดียวๆ กลับมาอยู่ที่รู้ อยู่ในฐานรู้ ...อย่า อย่าไปหมายมั่นในที่ใดทั้งปวง ออกไปรู้นี่ไม่มีที่สำคัญ ไม่มีการว่ามันจะช่วยได้...แก้ไม่ได้

อย่าไปคิดว่าเราทำได้ มีวิธีการนั้นวิธีการนี้เพื่อให้มันบรรเทาเบาบาง ...มันแบบข้างๆ คูๆ เลียบคูเมืองไปแค่นั้นเอง มันไม่ได้แก้ที่เหตุ ...จะตายก็ช่าง แต่เรารู้อยู่ที่ใจ ช่างหัวมัน

ได้ธรรมแล้ว อยู่ที่ธรรม ...อยู่ที่ใจน่ะได้ธรรม เห็นใจน่ะเห็นธรรม ละที่ใจก็เข้านิพพานเลย...จะเอาไหมล่ะ ...หรือจะไปแก้ไขอย่างนี้ ระวังอย่างนี้ ป้องกันอย่างนี้ 

จะทันมันมั้ยล่ะ จะแก้มันได้ทุกอณู ทุกกระเบียด ทุกวินาทีมั้ยล่ะ ...ไม่ต้องไปยุ่งกับมันเลย นี่คือโลกๆ มันจะเป็นยังไงก็ช่าง รู้อย่างเดียว ...ไม่รู้กับมันแต่มารู้อย่างเดียว แค่นี้เอง

ตายก็ตายดิ เป็นก็เป็นดิ โดนก็โดนดิ ไม่รู้...รู้อย่างเดียว ช่างหัวมัน ...แต่ถ้าไปวิพากษ์วิจารณ์หาเหตุหาผล จับกลุ่มคุยกันได้เมื่อไหร่ เอาแล้ว สงสัยแล้ว

มีอาการคันขึ้นมานี่...เอ้า กูโดนรึเปล่าวะเนี่ย (โยมหัวเราะ) ...จริงมั้ย  กระทบกันหน่อย ...ฉิบหายแล้ว กูโดนของ ...หลบกันใหญ่ กลายเป็นความกลัวด้วยความหมายมั่น


โยม –  เป็นอุปาทานจริงจังไปเลย

พระอาจารย์ –  อือ มันก็สักแต่ว่าๆ อาการ  ไม่ได้อะไร เขาก็ไม่ได้บอกว่าเขาเป็นอะไร หรือคืออะไร ...มองให้เป็นอย่างนั้นตามความเป็นจริง ใจมันก็จะรับรู้แล้วผ่านเลย 

จะโดนก็ช่าง ไม่โดนก็ช่าง...ไม่สำคัญ ๆ ไม่สำคัญนะ ...นี่เรียกว่าเป็นผู้ที่อยู่เหนือโลก ไม่ได้อยู่ใต้โลก ...อยากอยู่ใต้หรืออยากอยู่เหนือ  เป็นคนเหนืออยู่แล้วน่ะ ลงใต้อยู่เรื่อย ให้มันเหยียบให้มันขี่

ในสภาวธรรมสภาวธาตุ มันก็เป็นแค่สภาวธาตุสภาวธรรมแค่นั้นเอง ...ไม่ใช่อะไรของใคร ไม่ใช่ดีไม่ใช่ร้าย แต่มันคือสภาวธรรมหนึ่งสภาวธาตุหนึ่ง

ในโลกมันวุ่นอยู่กับสภาวธาตุสภาวธรรมที่อยู่ปนเปกันไป ไม่แยกว่าดี ไม่แยกว่าร้าย ...ไอ้คนที่แยกว่าดีไอ้คนที่แยกว่าร้าย..อันนั้นแหละปัญหา 

แต่สภาวธรรมสภาวธาตุไม่ใช่ปัญหา แล้วเขาไม่เป็นปัญหาด้วย ...ใคร เจ้าของปัญหา..หาให้เจอ ดูให้เห็น จับให้อยู่ ละให้ได้ ให้ขายขาดไปเลย ...อยู่ที่นั่นที่เดียว อย่าไปแก้ที่อื่น อย่าไปทำความแจ้งที่อื่น

ชอบไปแจ้งกันจังว่านี่ใช่ของรึเปล่า นี่ใช่อย่างนั้นรึเปล่า นั่นจริงรึเปล่า นี่จริงรึเปล่า ...ถามเรา เราบอกไม่มีอะไรจริงหรอก เป็นไตรลักษณ์ทั้งสิ้น ชั่วคราว แล้วก็ดับไป 

นี่ไม่ใช่เราพูดนะ ...พระพุทธเจ้าท่านบอก ท่านบอกมองอะไรทั้งโลกนี่ไม่มีอะไรเลย โลกนี้สูญ โลกนี้คือความว่างเปล่า ท่านมองเห็นอย่างนั้น ...เพราะอะไร ท่านมองไปไม่เห็นมีอะไรเป็นสาระเลย

มันรวมกัน อย่างว่ารถ เห็นรถมั้ย เออ รถอยู่ตรงไหน ...เพราะการรวมตัวขององค์ประกอบหนึ่ง ล้อ เหล็ก ยาง กระจก เครื่องยนต์ ปะๆๆๆ รวมกันชั่วคราว

พอแยกๆๆๆ หารถเจอตรงไหน เห็นมั้ย ไม่มี...มันมีแค่ชั่วคราว ...นั่น ท่านถึงบอกไม่มีสาระอันใด ไม่เห็นความมีความเป็นตรงไหน ท่านบอกว่างหมดเลย

หรือว่าถ้ามี...มีอะไร ท่านบอกท่านเห็นอะไร ท่านเห็นแต่ว่าในโลกนี้มีอะไร ที่มีเหรอ...ทุกข์เกิดขึ้น กับทุกข์ดับไป ท่านเห็นอยู่สองอย่าง...มีแต่ทุกข์เกิดขึ้นกับทุกข์ดับไป แค่นั้นน่ะ

การรวมกันน่ะท่านเรียกว่าทุกข์ การดับไปของมันท่านเรียกว่าทุกข์ดับไป ก็คืออาการของไตรลักษณ์ทั้งสิ้น ไม่ต้องสงสัยว่ามันจริงหรือไม่จริง มันใช่หรือไม่ใช่ 

มันไม่เป็นอะไร ...มันเป็นแค่นี้ มันเป็นเท่าที่มันมี มันเป็นเท่าที่มันเป็น แล้วก็ดับไป

ธรรมทั้งหลายทั้งปวง ท่านพูดถึงธรรมทั้งหลายทั้งปวง มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท

เห็นมั้ยก่อนนิพพาน พระพุทธเจ้ายังฝากคำพูดเป็นวลีเด็ดไว้น่ะ ว่ามันไม่มีอะไรหรอก นอกจากความเสื่อมไป .. เป็นธรรมดาด้วย ไม่ได้ประหลาดหรือมหัศจรรย์อะไรเลย

อย่าประมาทกับมัน อย่าไปหยุดอยู่กับมัน อย่าไปให้ความสำคัญกับมัน อย่าเอามันมาเป็นที่พึ่ง ...เอาของผุๆ พังๆ เสื่อมๆ สลายไป มาเป็นที่พึ่งที่อาศัยได้อย่างไร

ไม่ว่าจะในแง่บุญแง่บาป แง่ดีแง่ไม่ดี ...ไปนิพพานไม่เอาบุญไป ไปนิพพานไม่เอาบาปไป ไปนิพพานไม่เอาดีไม่เอาชอบ ไม่เอาถูกไม่เอาผิดไป ไม่เอาอะไรไปทั้งสิ้น ไปตัวเปล่าๆ ใจเปล่าๆ เท่านั้น

จึงเป็นประตูเดียว เป็นมรรคเดียว เป็นหนทางเดียว ที่จะออก ทะลุออกจากโลก ไม่กลับมาอีก ด้วยใจเปล่า รู้เปล่า ๆ รู้แบบไม่มีเงื่อนไข รู้ที่ไม่หยุดไม่อยู่กับอะไรทั้งสิ้น จึงจะเข้าสู่ความดับไปโดยสิ้นเชิง 

และจึงจะเห็นว่าแท้ที่จริงของความจริง เหนือความเป็นจริงทั้งหลายทั้งปวง เหนือธรรมชาติทั้งหลายทั้งปวงคืออนันตมหาสุญญตา 

ไม่มีและไม่เป็น ...ไม่ต้องไปหาว่ามันอยู่ตรงไหน นิพพานไม่มีที่อยู่ ที่เป็น...ไม่มี  ไม่มีคือไม่มี

เพราะนั้นชีวิตของเรา จิตของเรา ใจของเรา เหมือนเทียน ทำให้เหมือนเทียน ...จุดเทียน เทียนมันก็ไหม้ไปจนหมดไส้เทียนเมื่อไหร่  ไม่มีอะไรเหลือ แสงก็ดับ เทียนก็ดับ ไส้เทียนก็ดับ เห็นมั้ย

แต่พวกเรามันไม่ใช่เทียน ใจก็ไม่ใช่เทียน ไปทำให้มันต่ออยู่เรื่อย ทำให้มันเพิ่มอยู่เรื่อย มันก็เลยไม่หมดไส้เทียนสักทีนึง

หาเทียนมาเติมมาเพิ่ม ทำเรื่องทำราวมาพอกมาพูน หาเชื้อทั้งหลายทั้งปวงมาโปะมาสุม...ให้มันยืดยาวคราวไกล ให้มันสว่างนานๆ ขึ้น ...มันไม่จบ

แต่ให้รู้ว่า ให้มันเป็นแค่เทียนแท่งหนึ่งเท่านั้น เกิดขึ้น ตั้งอยู่ สลายไปๆ ...อย่าไปหาความเกิดขึ้นมาใหม่ อะไรไม่เกิด อย่า...อย่าแส่อย่าส่ายอย่าทะยาน

มีรู้เท่าไหร่...รู้เท่านั้น เห็นเท่าไหร่...เห็นเท่านั้น เข้าใจอย่างไร...เข้าใจอย่างนั้น  สุดท้ายก็คือความดับไปเป็นธรรมดา นั่นแหละมันจะมอดไหม้ในตัวของมันเอง

ดับสลายกลับคืนสู่ธรรมชาติที่เหนือธรรมชาติ เหนือสภาวะไตรลักษณ์ ถึงจะเรียกว่าอนันตมหาสุญญตา ...ไม่กลับมามี ไม่กลับมาเป็นอีกแล้ว

ปล่อยให้คนอยากมีอยากเป็นเขากลับมาเถอะ แค่นี้ก็จะล้นโลกแล้ว ...ผู้ปฏิบัติก็จะเต็มโลกอยู่แล้ว มันก็ยังปฏิบัติซ้ำซากอยู่ตรงนี้แหละ ทำไมมันไม่ลดน้อยถอยลงเลย

ตายเกิดแล้วก็ยังมาเป็นนักปฏิบัติกันต่อ แสวงหากันต่อ กระทำกันต่อ ...ไม่รู้ทำอะไรกันนักกันหนา ได้อะไรกันนักกันหนา จะหาอะไรกัน

จะหาสภาวธรรมไหนมาถือครอง เป็นสมบัติ เป็นข้าวของ ของตัวเองอยู่ ...มีแต่รู้ละ รู้ละรู้ทิ้ง รู้ละรู้ทิ้ง ทิ้งๆๆๆ ทิ้งจนไม่มีอะไรให้ทิ้งน่ะ

อย่าเสียดาย อย่ากลัวไม่ได้อะไร อย่ากลัวไม่ได้เป็นอะไร ...ภูมิจิตภูมิธรรมก็ไม่เอา มรรคผลก็ไม่เอา นิพพานก็ไม่เอา ทิ้งอย่างเดียวๆ

รู้อย่างเดียวๆ ให้เหลือแต่รู้อย่างเดียว โด่เด่คาโลกคาใจคาจิตคาธรรมอยู่อย่างนั้น ...มีแต่รู้ แค่นั้นแหละ เดี๋ยวมันแจ้งอยู่ภายในนั้นแหละ ในรู้นั่นแหละ ไม่ได้ไปแจ้งที่อื่นเลย

เมื่อมันแจ้งแล้วมันจะดับของมันเองน่ะ มันก็แจ้งๆๆๆๆ จนดับของมันเองแหละ ธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้น ...แต่พวกเราพยายามทำให้ผิดธรรมชาติอยู่เรื่อย

ไม่ยอมรับธรรมชาติที่มันมี ที่มันเป็น ที่มันปรากฏตามเหตุและปัจจัย ...ไปสร้างเหตุปัจจัยใหม่ๆๆๆ ด้วยความทะยานอยาก ตัณหา หมายมั่น คิด ปรุง ...มันจึงไม่จบง่ายๆ สักที

มันสมควรจบได้แล้ว ตั้งแต่ได้ยินได้ฟังว่าให้รู้เฉยๆ น่ะ  มันกี่รู้เฉยแล้ว มันไม่ยอมเฉยสักที ...รู้แล้วก็ไป รู้แล้วก็มา รู้แล้วก็ต้องมี รู้แล้วก็ต้องได้ รู้แล้วก็ต้องไม่ได้ 

รู้แล้วต้องเกิด รู้แล้วต้องดับ รู้แล้วต้องให้อย่างนั้น รู้แล้วต้องให้อย่างนี้ ...มันไม่รู้เฉยๆ น่ะ  ถ้ารู้เฉยๆ มันจะเหมือนกับเทียนที่มันจะมอดไหม้ในตัวของมันเองนั่นแหละ 

ไม่ได้ทำอะไร ไม่มีใครทำลายมัน ...แต่แสงสว่างนั่นแหละทำลายในตัวของมันเอง คือความแจ้งน่ะ มันก็แจ้งเข้าไปในใจ ...ไม่ได้ด้วยกลอุบายไหนเลย

พระพุทธเจ้าบำเพ็ญมาสี่อสงไขยแสนมหากัป อุตส่าห์ตั้งอกตั้งใจมาสอน เราก็อุตส่าห์ตั้งอกตั้งใจมาได้ยินได้ฟังแล้ว มันก็ยังทำอะไรกันอยู่ก็ไม่รู้ เถียงกันอยู่นั่นแหละ

จะเอาชนะกันแล้วมันได้อะไร ผลที่ได้คือความกระเทือนทั้งศาสนา กระเทือนถึงความมั่นคงในศรัทธาในธรรม กระเทือนถึงเกิดการแบ่งแยกแบ่งพรรคแบ่งพวกทั้งศาสนา

เห็นมั้ย ผลที่ได้จากการที่เอาชนะหรือทับถมคนอื่นลงไป สาใจของคนบางกลุ่ม เสียใจสำหรับคนอีกบางกลุ่ม หวั่นไหวกับพุทธศาสนิกชนทั้งศาสนา

เออ มันทำเล็งผลได้เลิศมาก กับไอ้การที่มันได้ประโยชน์แค่นิดเดียว...ของบางกลุ่มบางบุคคล ของบางคณะสงฆ์บางกลุ่ม หรือคณะของสงฆ์บางกลุ่ม

เห็นมั้ย พระพุทธเจ้าไม่เคยสอนให้อยู่ด้วยความเป็นปฏิฆะกัน ท่านสอนแต่ว่าสงบ สันติ และระงับ ...ไม่เคยให้แบ่งพรรคแบ่งพวก ไม่เคยแบ่งว่าอันนั้นถูกอันนี้ผิด

แต่ท่านให้เห็นทุกสิ่งเกิดขึ้นมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ...อย่าไปจริงจัง อย่าไปเอาอะไรมาเป็นสมบัติข้าวของ อย่าเอาความถูกมาเป็นของตัวเอง อย่ายัดเยียดความผิดให้คนอื่น

เห็นมั้ย ปากก็ว่าเป็นนักปฏิบัติธรรมกันทั้งนั้นน่ะ แต่การแสดงออก การกระทำคำพูด ...เมื่อเขาแสดงให้เราเห็น ก็ให้เป็นกระจก กลับมารู้อย่างเดียว

อย่าไปทะเลาะ อย่าไปก้าวก่ายกัน อย่าไปชี้แจงอะไรทั้งสิ้น รู้อย่างเดียว ช่างหัวมัน กรรมใครกรรมมัน แล้วทุกอย่างก็จะเป็นไปอย่างนี้ หมดคนนั้นเดี๋ยวก็มีคนนี้ หมดคนนี้ก็มีคนนั้น


มันต้องเป็นอย่างนี้ แก้ไม่ได้ ห้ามไม่ได้ ...ห้ามได้อย่างเดียวคือห้ามออกไปยุ่ง ห้ามออกไปก่ออารมณ์ นี่รู้ทันได้ สติรู้ทันได้ ...กลับมาอยู่ที่รู้ซะ แล้วทุกอย่างจะง่ายเอง ทุกอย่างจะจางไปเอง 

แต่ว่าอาจจะไม่จางข้างนอก แต่จางในใจที่หมายมั่นตามอาการนั้นๆ


(ต่อแทร็ก 2/30  ช่วง 3)