วันอาทิตย์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2557

แทร็ก 2/9 (2)





พระอาจารย์

2/9 (530727)


27 กรกฎาคม 2553

(ช่วง 2)




(หมายเหตุ : ต่อจาก แทร็ก 2/9 ช่วง 1


พระอาจารย์ –  ท่านไม่ได้ว่าเพื่อให้ได้อะไรคืนมา  อันนั้นคิดเอาเองนะนั่นน่ะ แล้วก็ถูกปลูกฝังว่า ทำวันนี้แล้วจะรวยวันข้างหน้า  เราก็เลยทำไปด้วยตัณหาและโลภะ  มันผิดเจตนา...ของพระพุทธเจ้า...ของการให้ทาน ...ให้ทานคือให้รู้จักคำว่าเสียสละออกไป โดยไม่เสียดาย

เห็นมั้ย มีของ... 'ของของกูน่ะ เงินของกูน่ะ' จะให้ไหม ...เห็นจิตที่มันสละออกไปไหม นั่นน่ะคือผลของทานที่แท้จริง  และให้เห็นว่าเหมือนกับใจที่เราสละอารมณ์ สละความคิด สละความปรารถนาใดความปรารถนาหนึ่ง  เห็นมั้ย มันก็ต้องอาศัยความสละออกเหมือนกัน ใช่ไหม

มันจึงเป็นอุบายเบื้องต้นเพื่อให้เกิดการสละ สลัดออกไป  สละภายในออกไป ความปรารถนาใดๆ ทั้งสิ้น ในอดีต-อนาคต อย่างนั้นอย่างนี้  มันก็คือหลักการเดียวกับการให้ทานน่ะ  เพราะนั้นท่านถึงบอกว่า ทาน ศีล ภาวนา

เมื่อมีทาน มีศีล มีภาวนา แล้วก็เป็นศีลสมาธิปัญญา เห็นมั้ย มันเป็นเรื่องเดียวกันหมดน่ะ ...จริงๆ เพื่ออะไร เพื่อให้เกิดปัญญา ไม่ใช่ทานโง่ๆ ...ยิ่งทานยิ่งโง่ ยิ่งทานยิ่งติด ยิ่งทานยิ่งไปรอหวังผลข้างหน้า

แทนที่จะหมดตัวหมดตน หมดตัวเราผู้รับ หมดเราผู้เสวย หมดเราผู้คอยรับผลของทาน  มันกลับมีตัวมีตนมากขึ้นๆ ไปรอรับเอาข้างหน้า...ไปเอาข้างหน้า  แล้วถามว่า มันจะหมดสิ้นเข้าสู่ความไม่มี ไม่เป็น หรือว่าดับไปของภพชาติอย่างไร   

ถ้าทานอย่างนั้นพระพุทธเจ้าท่านไม่สอนหรอก ... แต่ว่าท่านสอนคือเอาทานให้กลับเข้าสู่เป็นปรมัตถ์  เพราะฉะนั้น แม้แต่จะไม่ทำวัตถุทานเลยก็ตาม แต่มีการประกอบทานอยู่ในใจตลอด

นั่งอยู่เฉยๆ แล้วเราไม่เอาอะไรนี่ นี่คือการเสวยผลทานแล้ว เป็นทานขั้นปรมัตถ์...โดยที่ไม่มีอากัปกริยาของกริยาบุญหรือวัตถุทาน  แต่เอาอารมณ์ ความรู้สึก ความคิด ความเห็นนี่เป็นวัตถุทาน ภายใน คือทิ้งลูกเดียว สละออกอย่างเดียว

จาโค...สละ  ปฏินิสสัคโค...ปล่อย วาง  มุตติ...เอาจนขาดออกไปเลย ไม่เหลือ  มุตตินี่เอาจนไม่เหลือน่ะ กล้ามั้ยล่ะทิ้งหมดน่ะ  จน อนาลโย ...ไม่หวนเอากลับมาอีก ไม่เสียดาย ทิ้งแล้วไม่เสียดาย  

ให้ของเขาแล้วเคยคิดไหมว่า กูไม่น่าให้เลย น่าจะเอาไว้ใช้เอง นี่ เสียดาย เสียดายของ  พอเห็นมันใช้แล้ว มันใช้ไม่เป็น เอาไปใช้แล้วไม่รักษา ไม่มีประโยชน์ รู้งี้กูไม่ให้มึงซะดีกว่า  เห็นมั้ย มันยังเสียดาย  ยังติดอยู่กับอาการนี้

เหมือนกัน อาการภายนอก อาการภายในน่ะ  ให้น้อมกลับมาจะเห็นอาการในจิต บางอารมณ์ บางความรู้สึก...เราไม่กล้าทิ้งน่ะ เสียดาย เรายังเห็นว่ามันมีประโยชน์อยู่  ไม่ว่าการกระทำใดๆ ก็ตาม

เคยนั่ง(สมาธิ)อย่างนั้น เคยพิจารณาอย่างนี้แล้วมีความรู้สึก มีความรู้อย่างนี้เกิดขึ้น ...พอไม่ทำแล้วเรารู้สึกเสียดายความรู้นั้นๆ ไม่ต่อเนื่องในความรู้นั้น ... เห็นมั้ย เสียดายมั้ย  อยากทำต่ออีกใช่มั้ย หาเรื่องเกิดไปเรื่อยๆ ใช่มั้ย ...ไม่ยอมจบน่ะ 

โยม –    ใช่เจ้าค่ะ 

พระอาจารย์ –  แต่ถ้าทิ้งหมด แล้วไปแบบตัวเปล่าๆ น่ะ มีอะไรมั้ย ... กล้ามั้ยล่ะ ที่จะไม่เอาอะไร  กล้าที่จะ...เหมือนอย่างที่เราถามอยู่เรื่อยว่า...กล้าแก้ผ้าเดินมั้ยล่ะ  

มันยังเอาความคิดอะไรต่ออะไรเป็นเครื่องห่อหุ้ม ที่พึ่งพาอาศัย เป็นที่พักพิง เป็นที่มั่นที่หมาย  มันเลยไม่เข้าถึงไตรสรณคมน์  เพราะมันเอาอะไรมาเป็นสรณะอยู่เรื่อย

เอาบุญเป็นที่พึ่งบ้าง เอาบาปเป็นที่พึ่งบ้าง เอาความคิดความเห็นเป็นที่พึ่งบ้าง เอาความรู้ความเข้าใจเป็นที่พึ่งบ้าง เอาธรรมะของพระพุทธเจ้าที่อ่านที่จำมาเป็นที่พึ่งบ้าง อาธรรมะครูบาอาจารย์เป็นที่พึ่งบ้าง

ทั้งหมดนี่มันเป็นแค่ของหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งแค่นั้นเอง หรือว่าเป็นภพ ... ถ้าเราไปหมายมั่นหรือไปจับเมื่อไหร่ สิ่งพวกนี้เป็นภพ เป็นที่หยั่งของการเกิดขึ้นของขันธ์...ขันธ์หลอก ขันธ์ที่เตรียมจะพาเราไปเกิดที่ตรงนั้น...คือเป้าหมาย  

แล้วเราก็ติด ...เพราะว่าสมมุติเขาว่ากันอย่างนี้ คนทั่วไปเขาก็ทำกันอย่างนี้ ครูบาอาจารย์บางองค์ก็สอนมาอย่างนี้ ...ก็เลยจะทิ้งก็ไม่กล้าทิ้ง 

โยม –  ใช่เจ้าค่ะ  แล้วอย่างนี้ทำไมพระบางองค์ก็ยังสอนให้เรารู้จักว่าอานิสงส์ของบุญ บุญนี้เป็นยังไง

พระอาจารย์ –  นานาจิตตัง ...สัตว์โลกไม่ใช่มีปัญญาร้อยเปอร์เซ็นต์เหมือนกัน  บางคนก็โง่ บางคนก็ไม่ยอมรับ 'กูจะเอาแค่นี้ กูจะเอาบุญในโลกแค่นี้'  ...พอบอกว่าบุญคือความไม่มีไม่เป็นและการไม่กลับมาเกิด มันบอก 'ไร้สาระสิ้นดี กูจะทำทำไม'

คนที่เขาก็มีความปรารถนาอย่างนี้ก็มี ...ท่านก็สอนให้หมด แต่ให้เป็นไปในกุศล ไม่ไปเบียดเบียนผู้อื่น

โยม –  เจ้าค่ะ

พระอาจารย์ – เพราะนั้นพระพุทธเจ้าสอนทั้งหมดแหละ ยกเว้นอย่างเดียวคือไม่สอนให้ทำบาป

โยม –  ใช่เจ้าค่ะ                                                                                                   


พระอาจารย์ –  อันนี้คือธรรมก็มีระดับๆๆ ...ระดับสัตว์ ระดับมนุษย์ ระดับปุถุชน ระดับเข้าขั้นอริยะเบื้องต้น เบื้องกลาง เบื้องสูง ขั้นสูงสุด  สารประโยชน์ก็มี ประโยชน์เบื้องต้น ประโยชน์ขั้นกลาง ประโยชน์ขั้นสูงสุด

ถ้าจะเอาประโยชน์เบื้องต้นนี่ ไม่ต้องมาหาเราหรอก ...มีคนสอนเยอะ เยอะแยะมาก  สอนให้เราติดน่ะเยอะ ... สอนให้เราข้อง สอนให้เราอยู่กับโลก สอนให้เรามีชีวิตในโลกข้างหน้า

แต่ที่เราสอนนี่ ...เราสอนไม่ให้มีชีวิต แม้กระทั่งเดี๋ยวนี้ ...ข้างหน้าไม่ต้องพูดถึง แม้แต่เดี๋ยวนี้ก็ยังไม่ให้มีอยู่เลย 

ถ้ารู้ตรงนี้...ก็ละตรงนี้  เข้าใจรึยังว่า คือเข้าสู่ปรมัตถจิตในปัจจุบัน ละในปัจจุบัน...รู้ตรงไหนละตรงนั้นน่ะ  มันติดตรงไหนก็รู้อยู่ตรงนั้นน่ะ ดูมันตรงนั้น  ดูเพื่อละ...ไม่ใช่ดูเพื่อเอา ไม่ใช่ดูเพื่อให้มันมากขึ้น 

ไม่มีอะไรที่ให้ทำให้มากขึ้นเลย มีแต่จะให้กลวงน่ะ ให้ไม่เหลืออะไรน่ะ

โยม –  เข้าใจค่ะ

พระอาจารย์ –  ถ้าเหลือมา มึงโผล่มานี่...ตบกะโหลกมึงหมดน่ะ ...'ออกไป อย่ามาอยู่กับกู' (หัวเราะกัน)

ให้เหลือแต่ใจรู้เปล่าๆ เข้าใจมั้ย ... ตรงนั้นน่ะมันจะชำระออกหมด ไอ้ที่เคลือบแฝง ไอ้ที่สะสม ไอ้ที่หมักดอง ที่เป็นอนุสัย อาสวะ...ภาวนาจะต้องเข้าสู่จุดนี้  ...อย่าไปเลียบๆ เคียงๆ อย่าไปขี่ม้าเลียบค่าย เลียบมองดูชมนกชมไม้ ...เสียเวลา 

ถ้าจะรบ...เอาให้ตายกันไปเลย กล้าละก็ละ ...ไปแบบไม่มีอะไรน่ะ ไม่เอาอะไร  ดูซิ มันจะตายมั้ย มันจะไปได้มั้ย ...กล้ามั้ยล่ะ

อย่าไปหาตัวช่วย อย่าไปอยู่กับตัวช่วย ...'ต้องอย่างนั้นต้องอย่างนี้ซะก่อน ต้องให้อยู่อย่างนั้น ต้องมีสภาวะอย่างนี้ ต้องเกิดความรู้ความเห็นอย่างนี้' ... ไม่ว่าความรู้ความเห็นอะไร...กูก็ไม่เอา  แม้กระทั่งจิตที่มันบอกว่าอยากไปนิพพาน...ก็ไม่เอา

ดูซิ มันจะมีอะไรเหลืออีกมั้ย ...แล้วคอยสังเกตดูว่ามันยังเหลืออะไรอยู่ มันอยากไปข้องไปแวะอยู่ในภพใดภพหนึ่ง  ดูซิมันยังเอาอีกมั้ย มันยังมีที่ไหนให้เหยียบให้ยืนอยู่อีกมั้ย ...มาเมื่อไหร่กูก็จะละมึงเมื่อนั้นแหละ

ไปตัวเปล่าๆ นี่ แล้วไม่ต้องถามถึงเลยว่าจะเข้านิพพานยังไง  อยู่ที่ว่ากล้ามั้ยล่ะที่จะละน่ะ ...ไม่ใช่ ไอ้นั่นก็ติด ไอ้นี่ก็ไว้ก่อน ไอ้นั่นก็ไว้ก่อน  ขึ้นมาในแต่ละทีที่ปรากฏก็...'เอาตรงนี้ไว้ก่อนๆ ตรงนั้นทีหลัง' ... กลายเป็นดินพอกหางหมู

อดีต...ละ อนาคต...ไม่เอา ปัจจุบัน...ก็ไม่สน รู้แล้วก็ผ่าน รู้แล้วก็ปล่อย ...มันก็ไม่เก็บมาสะสม มาเป็นขยะอยู่ภายใน เป็นสัญญาอารมณ์ เป็นการคาดหวังในข้างหน้า  ...อะไรที่ผ่านมาก็ช่างหัวมัน ขึ้นมาก็รู้แล้วก็ละซะ  มันจบไปแล้วก็จบไป อันไหนยังมาไม่ถึงก็ไม่ต้องส่งออกไปคิดไปหา ไปคาดคะเน

เดี๋ยวนี้...อยู่ตรงนี้ๆ รู้แล้วก็วางอยู่ตรงนี้  ตาเห็นรูป ไม่มีอะไรก็ไม่มีอะไร  หูได้ยินเสียงเรา...ก็จบตรงนี้ จำก็ไม่ต้องจำ ฟังตรงนี้ผ่านไป ไม่ต้องคิด  ทิ้งให้หมด แม้แต่ที่เราพูดก็ไม่ต้องจำ ช่างหัวมัน 

เนี่ย แค่นี้ คือรู้ละรู้วาง...รู้ละรู้วางๆ ... ไม่ใช่รู้เอาๆๆ จะเอาธรรมะ  เอาไปทำไม กินก็ไม่อิ่ม ช่วยอะไรก็ไม่ได้ ...ละให้หมด  ธรรมก็ไม่เอา อะไรก็ไม่เอา ขั้นภูมิก็ไม่เอา โสดาบันก็ไม่เอา ...ไม่เอาอะไรทั้งสิ้น อยู่กับปัจจุบันแล้วก็ละปัจจุบันอย่างเดียว

ไม่ต้องถามว่าช้า-เร็วเลย บอกให้ ขอให้เด็ดเดี่ยวลงในจุดนี้จุดเดียวเท่านั้น  ไม่ต้องถามหาว่าชาติหน้าจะเกิดมั้ย ไม่เกิดมั้ย ...มันขึ้นมาเมื่อไหร่ เป็นความคิดทั้งนั้นพวกนี้  อย่าไปตามมันออกไป สงสัยอะไรก็อย่าสงสัย  อย่าคิดว่าแก้สงสัยด้วยการเข้าไปทำให้หายสงสัย...มันไม่จบ  สงสัยก็รู้ว่าสงสัย...จบ  คือไม่สงสัยแล้ว

โยม –   (หัวเราะกัน) อยากหาคำตอบ

พระอาจารย์ –   คือสงสัยนี่ ที่เป็นภาษานึงก็ว่าวิจิกิจฉา  แต่อีกภาษานึงคือว่า “อยากรู้” เข้าใจป่าว คือความอยากรู้  แต่ก็มาเรียกให้ดูดีว่า “สงสัย” ในธรรม ...จริงๆ มันอยากรู้น่ะ เห็นมั้ย ตัณหาทั้งนั้นแหละ ...เมื่อมันอยากก็ไม่ต้องรู้น่ะ โง่เข้าไว้    


โยม – อยากให้เวลานั่งแล้วเหมือนเก่า (หัวเราะ) ...มันไม่เหมือนเก่า      

พระอาจารย์ –   เออ ทุกอย่าง เห็นมั้ย อะไรขึ้นมา...มันความอยากน่ะบังหน้า ออกหน้าออกตาเลย ...แต่เราไม่ค่อยเห็น แล้วเราชอบทำตามความอยากโดยไม่รู้ตัว...โดยเข้าใจว่าเป็นการเจริญมรรค 

เอามรรคมาเป็นตัณหา เอาตัณหากลายเป็นมรรคไปซะงั้น ... มรรคท่านให้เจริญเยอะๆ คือรู้เฉยๆ นี่คือสติ คือมรรค...ไม่ค่อยยอมทำ  แต่ตัณหาท่านให้ดับ ท่านให้ละ ... หูย กูทำจัง (โยมหัวเราะกันคิกคัก)

มันอยากได้กัน ...นั่งนานๆ ด้วยความอยาก จะได้สงบ จะได้เกิดความรู้ จะได้หลุดพ้น  เห็นมั้ย ตัณหาท่านให้ละ...เราดันเจริญ แล้วเราก็เข้าใจผิดว่าอย่างนี้เรียกการเจริญมรรค  เห็นรึยังว่ามันเป็นทิฏฐิที่ไม่ตรงน่ะ ...แล้วทิฏฐิที่ไม่ตรงนี่พาทุกอย่างคลาดเคลื่อนหมด  

เพราะนั้นผลของสมุทัยที่เข้าใจผิดว่าเป็นการเจริญมรรคนี่ ... ผลออกมาคือได้บ้างไม่ได้บ้าง เดี๋ยวก็ดี เดี๋ยวก็ร้าย เดี๋ยวก็เข้าใจ เดี๋ยวก็สงสัย  เดี๋ยวก็ 'โอ้โห วันนี้ผ่องใสดีเลย'  เดี๋ยวก็...'เอ๊ะทำไมวันนี้มันมืดตึ้บจังเลยวะ ก็ทำเหมือนเดิมน่ะ' อย่างเนี้ย ...เห็นมั้ย สงสัยอีกแล้ว หาทางแก้ใหม่อีกแล้ว

เราบอกเลยว่า ผลของสมุทัย...คือทุกข์และเศร้าหมอง


โยม –  แล้วอย่างนี้เวลาเรานั่งนี่ค่ะ ...คือทุกครั้งเวลานั่งเสร็จเราจะต้องมีการอุทิศ  แล้วอย่างเวลาที่เราเกิดอารมณ์อย่างนี้ฮ่ะ อารมณ์ที่ว่ามืดตึ้บเนี่ย ...อุทิศแล้วจะได้อะไรคะ ได้มั้ยคะ   

พระอาจารย์ –   จะเอาอะไร    

โยม –   คืออุทิศตรงนี้ ปล่อยให้บุญตรงนี้ที่จะให้ใครต่อใคร  อย่างสมมุติว่าทุกครั้งเราจะต้องอุทิศให้พ่อแม่บุพการีอย่างนี้

พระอาจารย์ –  โยม ...รู้จักดอกไม้ที่มีกลิ่นใช่ไหม  มันตั้งใจจะให้ใครได้กลิ่นมั้ย

โยม –  เราได้กลิ่นเอง   

พระอาจารย์ –  ธรรมชาติของดอกไม้ที่มันมีกลิ่น เขาตั้งใจให้ใครมั้ยเนี่ย  

โยม –  ไม่ได้ตั้งใจ    

พระอาจารย์ –  แล้วทำไมเราไปได้กลิ่นล่ะ เขาไม่ได้มีเจตนาจะให้หรือไม่ให้ใครนี่  เข้าใจมั้ย 

ธรรมชาติของจิตที่ไม่ได้อะไรนี่ มันมีการให้โดยธรรมชาติอยู่แล้ว ... ทำไมถึงว่าศีลนั้นหอมทวนลม จิตที่มีศีลแล้วหอมทวนลม ...แต่ศีลนี่ไม่ใช่ศีลบัญญัติหรือศีลสมมุตินะ 

ศีลคือความปกติ...ปกติของใจที่ไม่มีอะไร ไม่เอาอะไร ...มันก็เหมือนดอกไม้ที่หอมทวนลม  ยิ่งกว่าดอกไม้อีก เพราะดอกไม้ยังอาศัยว่าลมมาด้านนี้ อีกด้านจะไม่ได้กลิ่นนะ ...แต่ศีล กลิ่นหอมของศีลในจิต มันหอมทวนลมได้ด้วย ...เป็นอัปปมาโน ไม่มีประมาณ 

เพราะนั้นจะตั้งใจให้หรือไม่ตั้งใจให้ก็ตาม... 'มึงอย่ามาใกล้กูนะ มึงรับไปเลย' ...คือมาใกล้มันก็ได้รับอยู่แล้ว เข้าใจรึเปล่า

โยม –   เข้าใจค่ะ  

พระอาจารย์ –  เพราะนั้นมันไม่ได้ขึ้นกับความอยากและไม่อยาก แต่เป็นธรรมชาติของเขาอยู่แล้ว 

ไอ้นอกนั้นน่ะคิดเอาเองทั้งนั้น ตามบัญญัติ ตามที่เคยได้ยินเขาเล่าว่า เขาบอกว่าต้องอย่างนั้นนะ ต้องอย่างนี้นะ ...ไปอ่านกาลามสูตรซะ รู้จักรึเปล่า    

โยม –  รู้จักค่ะ   

พระอาจารย์ –   อย่าเชื่อเพราะว่าอาจารย์สอน อย่าเชื่อว่าเพราะมันเป็นเหตุและผลอย่างนี้ อย่าเชื่อเพราะเขาทำกันมาเป็นประเพณี อย่าเชื่อเพราะว่าพิจารณาไตร่ตรองได้ดีแล้ว เห็นมั้ย ไปอ่านดู สิบข้อ ...อ่านเสร็จแล้วจะรู้ พระพุทธเจ้าไม่ให้เชื่ออะไรเลย

เห็นมั้ย อะไรก็ไม่ให้เชื่อ แม้แต่อาจารย์สอนยังไม่ให้เชื่อเลย  เพราะความเชื่อนั้นมันพาให้เราออกนอกไปหมด ไม่เห็นธรรมชาติของกาย-ใจตามความเป็นจริง

แค่รับรู้เฉยๆ  ทุกสิ่งทุกอย่างเขาเป็นไปในครรลองของเขา ...เราไม่ใช่เป็นเจ้าโลก เป็นเจ้าชีวิตคนอื่น ที่จะเอาอะไรไปให้ใครโดยตรง  

แต่ถ้าเราหยุด...หยุดการกระทำทั้งหลายทั้งปวง หยุดเจตนาทั้งหลายทั้งปวง ทั้งในแง่บวกและในแง่ลบ เมื่อหยุดหรือว่าสันติได้เมื่อไหร่ นั่นน่ะคือการให้ที่ไม่มีประมาณ เป็นอัปปมาโน เป็นจิตที่ไม่มีประมาณ เป็นเมตตาอัปปมาโน เป็นเมตตาแบบอัปปมัญญาอยู่แล้ว

ธรรมชาติคือการให้อยู่แล้ว เข้าใจมั้ย เขาไม่มีปฏิเสธ ...เหมือนพระอาทิตย์นี่ พระอาทิตย์นี่ไม่เลือกนะ  เอาคนสิบคนไปยืนอยู่กลางแดด ก็ร้อนเท่ากันน่ะ ... จะมาเลือกว่าไอ้นี่อ้วน มึงเอาไปแรงๆ เลย  ไอ้นี่ผอม เอาน้อยๆ ให้ร้อนน้อย ...ไม่มีนะ 

นี่คือความเป็นกลาง เข้าใจมั้ย มันเป็นธรรมชาติของการให้เสมอกันอยู่แล้ว และไม่มีประมาณด้วย... ตรงๆ

แต่ความคิดความเห็นน่ะมันทำให้เกิดการจำกัด เจาะจงไปตามกิเลส ทั้งพอใจ ไม่พอใจ กุศล อกุศล ดี-ร้าย แบบคนนี้ใจดีให้มันมากหน่อย คนนี้ใจร้ายก็ เฮ้ย มึงอย่าเอาเลย

แต่สุดท้ายแล้วหยุดหมดน่ะ หยุดก่อนๆ อย่าเสียดายบุญ อย่าเสียดายอย่างนั้น อย่าเสียดายว่าสิ่งที่เราทำแล้วจะให้คนอื่นไม่ได้แล้วเขาจะไม่ได้รับผลของเรา ...อยู่เฉยๆ เขาได้เอง ได้ทั้งนั้นแหละ 

ไม่อยากได้ก็ได้ อยากได้มากก็ได้แค่นั้นแหละ ตามเหตุปัจจัย ไม่ได้ขึ้นกับใครหรือความปรารถนาของใคร ...มันเป็นของมันอย่างนี้ นี่คือกฎของธรรมชาติ

ให้เข้าใจให้ตรงก่อน นะ  ไอ้ที่เคยทำมามันบิดๆ เบี้ยวๆ น่ะ พอยิ่งทำยิ่งเบี้ยวน่ะ ยิ่งเข้าไปตามความเห็นความคิดของเรา ยิ่งเบี้ยวใหญ่เลย  ยิ่งเบี้ยวก็ยิ่งเฉ ยิ่งเฉก็ยิ่งออก ยิ่งออกก็ยิ่งไปไกล ยิ่งออกไปไกล มันจะไม่กลับเข้าอยู่ในครรลองแห่งมรรคเลย 

คือความเป็นกลางและความสงบสันติ ระงับ ความเป็นที่สุดของทุกข์และยอมรับทุกข์ตามความเป็นจริงจะไม่เกิดขึ้นเลย ...มีแต่จะเข้าไปค้น ไปหา ไปทำ ไปสร้าง ไปก่อ ไปเกิด ไปเมตตา 

เมตตาก็ไม่ต้องเมตตาแล้ว ไม่เมตตาใครแล้ว อยู่เฉยๆ นี่แหละคือเมตตา ...ไม่งั้นไปเมตตาเขามากๆ เขาไม่รับ เดี๋ยวเราโกรธอีก ...อย่างตั้งใจนะเนี่ย จะสอน ตั้งใจจะอธิบายให้มันเป็นคนดีนะ  พอมันไม่ยอมรับนี่ ชักเครียดแล้วๆ (หัวเราะกัน) 'กูอุตส่าห์ตั้งใจแนะนำสั่งสอนให้ มึงนะมึง' 

ตอนแรกนี่เมตตาเต็มเปี่ยมเลย  ไปๆ มาๆ กลายเป็นโทสะเอาซะดื้อๆ เลย ...มึงดันไม่รับกูก็เลยโกรธมึงซะเลย  เห็นมั้ย ขนาดเมตตายังกอปรด้วยความปรารถนา ความอยากและไม่อยาก ตราบใดที่มีการเจตนาเข้ามา ...มันมีทั้งสองส่วนเป็นธรรมคู่กันอยู่แล้วโลกนี่

แล้วการที่จะให้ การที่เขาจะได้รับนี่ ต้องอาศัยการน้อม ต้องมีการน้อม  พระพุทธเจ้าท่านเรียกว่าโอปนยิโก  ถ้าเขาน้อม...เขาได้รับ ถ้าเขาไม่น้อม...อย่าไปยัดเยียด ทำไม่ได้

เพราะนั้นอยู่เฉยๆ แล้วเขาน้อมมาเอง เหมือนข้าวที่เคารพแผ่นดิน แม่โพสพ อย่างนี้ มันมีความอ่อนน้อม ...ต้องมีการน้อม  ถ้าจิตไม่มีการน้อม คนที่มารับรู้พูดคุยสัมผัสสัมพันธ์กัน ถ้าเขาไม่มีการน้อม เขาจะไม่เข้าใจ เขาจะรับไม่ได้

เพราะนั้นเราก็ไม่ต้องไปจงใจจะอะไรกับใครมากมาย ...ก็อยู่เป็นปกติของเรา แสดงความเป็นธรรมของเรา แสดงความเป็นตัวตนที่แท้จริงของเรา แสดงความเป็นผู้ที่ปล่อยวางของเรา  แล้วมันจะน้อมหรือไม่น้อม เรื่องของมึงไม่ใช่เรื่องของกู ...ไม่ใช่ไปไล่ประกาศธรรม

อย่างโยมมานี่ อาตมาก็ไม่เคยเรียกให้มา

โยม –  เจ้าค่ะ                                                                                                                 

พระอาจารย์ –  มาเองนะเนี่ย ...ช่วยไม่ได้ หลงมาเอง (หัวเราะกัน) ... มาแล้วก็ฟัง ฟังแล้วรับได้ก็รับ ...ก็เรื่องของโยม ไม่ใช่เรื่องของเรา  เรามีหน้าที่พูดก็พูดๆๆๆ  แล้วคนฟังก็ฟัง แต่จะน้อมเข้าสู่ใจเอาไปปฏิบัติรึเปล่า...เรื่องของโยม ไม่ใช่เรื่องของอาตมา

เพราะผลอยู่ที่โยม...ถ้าน้อมก็ได้ ไม่น้อมก็ไม่ได้  ไม่เกี่ยวกับเราเลย เราไม่ได้ดีขึ้นหรือเลวลงกับการที่โยมจะน้อมหรือไม่น้อม  เราไม่ได้ไปอะไรด้วย เพราะพวกโยมก็คือ...สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ปรากฏขึ้นเกิดขึ้น แล้วตั้งอยู่ แล้วดับไปเป็นธรรมดา (หัวเราะกัน) ...ไม่เกี่ยวอะไรกับเราเลย

เพราะนั้นธรรมะนี่มันมีอยู่ตลอด ...มองให้เป็น ให้เข้าใจ ทุกสิ่งที่ปรากฏอยู่ต่อหน้าเราคือเขาแสดงธรรม แต่เรายอมรับด้วยอาการที่เป็นธรรมไหม  ถ้าวางจิตได้เป็นกลางแล้วเราจะเข้าใจ ว่าเขาเป็นอย่างนี้ ธรรมชาติมันเป็นอย่างนี้ ... อย่าไปรู้เกิน อย่าไปรู้มาก อย่าไปคิดมาก 

มันอยู่ตรงนี้ แค่นี้ พอแล้ว... พระพุทธเจ้าสอนแค่นี้จริงๆ หลักนี่มีแค่นี้จริงๆ ...แต่พวกเราเกินหลักว่ะ ไปทำเกินหมดเลย  'ต้องอย่างงั้น ต้องอย่างงี้  ไอ้นั่นก็ไม่ได้ ไอ้นี่ก็ไม่ได้  ไอ้นั่นก็ห้ามนะ ไอ้นี่ก็ห้ามนะ' 

มันกลายเป็นว่าไปสร้างตัวตนใหม่ขึ้นมา จนปิดบังตัวตนที่แท้จริง หรือธรรมชาติที่แท้จริงของกายวาจาจิต  จนแยกแยะไม่ออกว่าอันไหนจริง อันไหนเท็จ  อันไหนกิเลส อันไหนเป็นตัวธรรมชาติของใจ  อันไหนเราทำขึ้น อันไหนเราไม่ทำขึ้น  

บางทีสับสนไปหมด ...เพราะเราคุ้นเคยกับการกระทำแล้วได้ผลขึ้นมา ก็ 'เอ๊ะ อันนี้เราทำรึเปล่าวะ หรือมันมาของมันเอง' อย่างนี้ ...เราจะแยกไม่ออก

แต่ถ้าเราเริ่มไม่สนใจในการกระทำ ไม่เข้าไปกระทำมากขึ้นๆ ...เราจะเห็นทุกอย่างมันเป็นไปของมันเอง เป็นธรรมชาติของกาย วาจา จิต ตามความเป็นจริง ... เราจะเห็นอัตตาที่แท้จริง 

และเราจะอาศัยอัตตาที่แท้จริงนั่นแหละเป็นที่พึ่ง อัตตาหิ อัตโน นาโถ ...เป็นที่พึ่งอะไร ...ไม่ใช่เป็นที่พึ่งที่จะเอาไปยึดเหนี่ยวอะไร  แต่เป็นที่พึ่งที่ให้เรียนรู้แล้วก็รับอัตตานั้นๆ ได้ 

ก็เข้าไปสู่ความหมายของ สัพเพ ธัมมา อนัตตาติ ...ก็ต้องอาศัยอัตตาที่แท้จริงนั้นเพื่อเรียนรู้  ไม่ใช่อัตตาที่สร้างขึ้นมาเป็นตัวตนขึ้นมาใหม่ ที่ฉาบทา ที่เป็นเปลือก...ที่เราพยายามจะคิดว่าตัวเราเป็นอย่างนั้น ตัวเราเป็นอย่างนี้

มันเลยไปปกปิดอัตตาที่แท้จริง เลยไปอยู่กับสักกายแล้วก็ทิฏฐิมานะ แล้วก็เอาตัวนั้นแหละเป็นเครื่องดำเนิน เป็นเครื่องห่อหุ้มจิต แล้วก็หลงใหลได้ปลื้มอยู่กับมัน ภูมิอกภูมิใจกับสภาวะที่เราทรงเอาไว้ รักษาเอาไว้ แล้วก็พยายามไม่ให้มันหาย ให้มันอยู่นานๆ

คือแทนที่จะเห็นไตรลักษณ์ กลับเป็นการสร้างสิ่งที่ตรงข้ามกับไตรลักษณ์หมดเลย  กลายเป็นนิจจัง สุขขัง แล้วก็อัตตา  มันเลยไม่เห็นความเป็นจริงของใจที่เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา 

ด้วยการที่เราไปยุ่งกับมันเหลือเกิน  กลัวมันเป็นอย่างนั้น กลัวมันไม่เป็นอย่างนี้  กลัวความเป็นจริงที่มันปรากฏ รับไม่ได้กับอาการที่เกิดขึ้น รับไม่ได้กับความคิดอย่างนี้ รับไม่ได้กับอารมณ์อย่างนี้ ...กลัวไปหมด

พอยิ่งกลัวก็ยิ่งปิด ยิ่งกลัวก็ยิ่งกลับเก็บกดเข้ามา แล้วก็พยายามสร้างสภาวะใหม่ อาการใหม่ อารมณ์ใหม่ๆ ความรู้สึกใหม่ๆ ความเห็นใหม่ๆ มาคอยปกปิดมัน

ธรรมดามันก็มิจฉาทิฏฐิอยู่แล้ว เราก็เอามิจฉามิจฉาทิฏฐิมาปกปิดมันเข้าไป ซ้ำๆ ซากๆ อยู่อย่างนั้น สุดท้ายก็มาบอกว่า 'เอ๊ ทำไมปฏิบัติแล้วมันไม่เห็นได้อะไรเลย ไม่เข้าใจอะไรเลย ก็เหมือนเก่า'

มันจะไปได้อะไร มันก็เหมือนกับเขียนเสือให้วัวกลัว เขียนเองแล้วก็หลอกตัวเองไปวันๆ ด้วยการปฏิบัติที่เข้าใจว่าเจริญในองค์มรรค  แต่แท้ที่จริงมันเป็นการเจริญสมุทัยทั้งสิ้น เป็นเหตุให้เกิดทุกข์  สุขไม่มีหรอก มีแต่ทุกข์มากหรือทุกข์น้อยแค่นั้นเอง

มันไม่เข้าใจถึงความเป็นจริงที่พระพุทธเจ้าสอนให้ยอมรับตามความเป็นจริง กายเดี๋ยวนี้ จิตเดี๋ยวนี้  ไม่ว่ามันจะดี ไม่ว่ามันจะไม่ดี ...มันจริงน่ะ ไม่จริงมันไม่เกิดขึ้นหรอก

นั่นแหละ ก็เอาสติเข้าไปรู้ความเป็นจริงนั้นๆ ...ก็จะเห็นความเป็นจริงนั้นน่ะ อยู่ภายใต้เงื่อนไขของไตรลักษณ์ทั้งสิ้น  จิตก็เข้าไปเรียนรู้ไตรลักษณ์กับอาการที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง ทีละเล็กทีละน้อย ...รับรู้ด้วยความพากเพียร อดทน

อย่าหนี อย่าแก้ อย่าไปหาอะไรมาเพิ่ม อย่าไปทำอะไรขึ้นมาใหม่ ...ไอ้ของเก่าก็แทบตายแล้ว  อย่าเอาอะไรมาสะสมใหม่อีก  ไอ้ที่เก็บเอาไว้ ความคิดความเห็นต่างๆ นานา ความรู้สึก ความหมายมั่นมากมาย มันก็พร้อมที่จะผุดๆๆ ขึ้นออกมา

ยอมรับมัน ดูมัน ด้วยความอดทน ...อาจจะไม่ตรงกับตำรา อาจจะไม่ตรงกับคำครูบาอาจารย์ ว่าอันนี้ห้ามเกิด อันนี้ห้าม...ความคิดอย่างนี้ไม่ได้นะ ... อดทนดูมันไป แล้วก็จะเห็นว่าสุดท้ายมันดับไป ...สุดท้ายมันก็ดับไป

แล้วมันจะเห็นความดับไปนั่นน่ะคือเห็นธรรมที่สูงสุดของอาการทั้งหลายทั้งปวง ...มันครอบอยู่ทั้งหมด อนันตาจักรวาล สรรพสิ่งในนี้อยู่ภายใต้เงื่อนไขของไตรลักษณ์หมด ไม่มีแหลมเกินหรอก 

แล้วมันจะเห็นความเป็นจริงสูงสุด คือธรรมชาติของไม่เกิดและไม่ดับ แล้วก็จะเห็นความเป็นจริงสูงสุดของไม่เกิดไม่ดับ ก็คือความดับโดยสิ้นเชิง ...อันนั้นไม่ต้องหาหรอก มันจะเป็นของมันเอง 

ตอนแรกนี่ต้องเกิดขึ้น ตั้งอยู่ดับไปก่อน ...ยอมรับ ให้จิตมันยอมรับ  ไม่ได้ยอมรับด้วยความคิด ไม่ได้ยอมรับด้วยการพิจารณา  แต่ยอมรับด้วยการเข้าไปรู้ตรงๆ เห็นตรงๆ โดยไม่ปฏิเสธ ไม่แทรกแซง ... ด้วยจิตที่เป็นกลาง

เพราะนั้นที่พูดมาทั้งหมดนี่ อยู่ในองค์ของมรรคทั้งสิ้นเลยนะเนี่ย อยู่ในมัชฌิมาปฏิปทาทั้งสิ้นเลย ...ถ้าตรงเข้าไปอย่างนี้  ไม่ต้องกลัว สุดท้ายก็ล่อนจ้อนหมดแหละ ไม่มีอะไรเหลือ ไม่เหลืออะไร ...แล้วก็ไม่ได้อะไร แล้วก็ไม่ได้เป็นอะไร แล้วก็จะเป็นธรรมดา จิตก็ธรรมดา แล้วก็มองเห็นทุกอย่างก็เป็นธรรมดา สุดท้ายก็เป็นธรรมดา

เห็นมั้ย ก่อนพระพุทธเจ้าจะสิ้นท่านว่าอะไร ... "สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ขอให้เธอทั้งหลายจงถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด"  เห็นมั้ย ท่านบอกว่าสังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา

คำว่าสังขารในความหมายของท่านนี่ คือหมายความถึงสรรพสิ่งทั้งหมดเลย ...มีอะไรบ้างไม่เสื่อม  สรรพสิ่งหมายถึงสิ่งที่ถูกรู้ทั้งหมดที่จิตออกมารู้น่ะ 

ไม่ว่าจะเป็นสภาวะธาตุ สภาวธรรม  จะละเอียด จะประณีต  จะดูดี ดูไม่ดี ดูไม่มีอะไร  หรือว่าง หรือว่าหมด หรือว่าสิ้น หรือว่าอะไรก็ตาม ...ก็คือสภาวะหนึ่ง หรือว่าสังขารหนึ่งทั้งสิ้น  ย่อมมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา

เพราะนั้น ท่านมองเห็นทุกอย่างเป็นธรรมดาในความเสื่อมไป ...จิตจึงไม่เข้าไปมี เข้าไปเป็นกับอาการนั้นโดยสิ้นเชิง 

อย่าไปประมาทกับสภาวะใดสภาวะหนึ่ง โดยที่ว่าจะเอามันเป็นที่พึ่ง ...แม้แต่นิพพานในความคิดก็ยังเป็นสภาวะหนึ่ง ยังเป็นภพหนึ่ง ...นิพพานไม่ใช่อย่างที่เราคิด ไม่ใช่อาการ ไม่ได้เป็นอาการ 

เพราะไอ้สิ่งที่คิดน่ะมันออกมาจากอวิชชาทั้งสิ้น อย่าเชื่อมัน  เพราะถ้าเชื่อแล้ว มันจะมีการทำเข้าไปสู่มัน วิ่งเข้าไปหามัน วิ่งเข้าไปสู่มัน ... มันเป็นเงา หรือเป็นมายาของจิต หรือเป็นแค่นิมิต เป็นแค่ความหมาย เป็นแค่วิมานในอากาศ เป็นแค่ความเห็นลมๆ แล้งๆ เอาแน่เอานอนอะไรกับมันไม่ได้ หาความเป็นตัวตนยังไม่มีเลย

อย่าไปให้ค่ากับมัน  พอดูแล้วลดการให้ค่ากับมัน เราจะเห็นสุดท้าย แม้แต่ตัวเองยังไม่มีค่าเลย ...เพราะธรรมชาติของมันไม่มีค่า ไม่มีสูง ไม่มีต่ำ ไม่มีดี ไม่มีดีกว่า ไม่มีเลวกว่า ...เหล่านี้เป็นสิ่งที่คิดเอาเองน่ะ

มันถึงทะเลาะกันน่ะ นักปฏิบัติกับนักปฏิบัติก็ทะเลาะกัน ว่าปฏิบัติดีกว่าถูกกว่า เหนือกว่า ตรงกว่า ...ก็ให้มันเอาไปเหอะ อยากดีก็ดีไปดิ ...คือจะไม่เอาเราเข้าไปเปรียบเทียบกับอะไร นี่ มันจะคอยอย่างเดียวคือคอยเท่าทันอาการที่จะเข้าไปให้ค่า  ...คือพูดง่ายๆ อะไรแหลมออกมา กูละหมดแหละ

แล้วถามว่ามันจะไปเปรียบกับอะไรได้ล่ะ ...แค่คิดจะเปรียบมันก็ละแล้ว คิดจะเอาถูกเอาผิดมันก็ละแล้ว  ยังไม่ทันว่าถูก ยังไม่ทันว่าผิดเลย  แค่คิด...มันก็ละความคิดแล้ว ไม่คิดตามมันออกไปแล้ว เห็นมั้ย สุดท้ายไม่เหลืออะไรหรอก ดียังไม่รู้เลยว่าตัวเองดี หรือตัวเองผิดวะ ก็ยังไม่รู้เลยว่าผิด  เพราะมันไม่คิดเลยว่าตัวเองผิด แล้วก็ไม่คิดว่าตัวเองถูก เข้าใจรึเปล่า

โยม –    เข้าใจค่ะ 

พระอาจารย์ –  คือไม่ได้เข้าไปให้ค่าใดๆ ในที่ใดที่หนึ่ง หรือไม่ได้เข้าไปตั้งความเห็นในที่ใดที่หนึ่ง ...เมื่อไม่มีการให้ค่าหรือเข้าไปตั้งความเห็นในที่ใดที่หนึ่ง ภพไม่สามารถจะตั้งได้

ภพจะตั้งได้ด้วยตัณหาเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง อุปาทานจึงเกิด ภพจึงเกิด ชาติจึงเกิด  ถ้ามีภพก็มีชาติ มีการเข้าไปหยั่ง เข้าไปยึด เข้าไปถือ เข้าไปตั้ง เข้าไปแตะอยู่ตรงนั้น ... อย่าว่าแค่แตะ ไอ้พวกเรามันไม่แค่แตะหรอก มันกอดเลย เข้าใจมั้ย

แต่พระอริยะนี่ท่านเข้าไปหยั่งหรือแค่แตะนี่ ท่านเห็นแล้วอาการของทุกข์ทันทีเลย  อย่าให้ถึงว่าไปกอด ไปรัด อย่างพวกเราที่บางครั้ง โหย กอดไม่พอ...ยังเอาโซ่ล่ามไว้อีกต่างหากในบางอาการ บางอารมณ์ บางบุคคลน่ะ 

เห็นมั้ยว่าจิตที่เข้าไปผูกพันแนบแน่นน่ะ ด้วยความหลง ด้วยการให้ค่า ด้วยการที่ว่าพอใจกับเวทนานั้นๆ ว่ามันรู้สึกจริง เป็นจริงเป็นจัง เป็นตัวเป็นตน...มาเป็นต่อนๆ ดุ้นๆ ท่อนๆ เลยแหละ ... ทั้งๆ ที่ว่ามันไม่มีอะไร  นั่นน่ะโง่ ...โง่นักก็ทุกข์ไป

เอ้า ฟังแล้วเข้าใจมั้ย สงสัยอะไรก็ถาม   


โยม –  ก็พอเข้าใจแล้วเจ้าค่ะ แต่ก็เป็นการยากอยู่น่ะค่ะ  ตอนนี้ก็คงแค่ตามรู้ความนึกความคิดของเราก่อน     

พระอาจารย์ –  รู้เฉยๆ ไม่ต้องไปเพ่งโทษให้มัน แล้วก็ไม่ต้องหาอะไรใหม่ ... ที่มีอยู่ตรงนี้ ดีหมดแล้ว ไม่มีอะไรดีกว่านี้แล้ว  มันดีที่สุดในปัจจุบัน อนาคตไม่ดีหรอก อดีตก็ไม่ดี ...ไอ้ที่ทำมาแล้วก็อย่าไปจำ ทิ้งได้ก็ทิ้งไป อย่าไปหามาอีก อย่าไปหวนมาอีก เดี๋ยวจะกลายเป็นไอ้บ้าหอบฟาง ไอ้บ้าหาบหิน

ตอนนี้ไม่หาบหิน แต่มันบ้าหอบฟางอยู่ คือหอบสิ่งที่ไร้สาระสิ้นดีน่ะ สภาวะต่างๆ อาการต่างๆ อารมณ์ต่างๆ  เอาไปใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้หรอก ความเป็นจริงมีแค่ขณะปัจจุบัน แค่ขณะเดียว แล้วก็ผ่านๆๆ

ไอ้ที่คิดว่ามี ไอ้ที่คิดว่าเป็น มันเป็นแค่สัญญา เป็นความหมายมั่นในสัญญา ...คิดเอาเองทั้งนั้น  อย่าไปเชื่อมัน  ดูไปเรื่อยๆ ดูอาการยินดียินร้าย ต่อขันธ์ ต่อสิ่งที่ปรากฏ ให้เท่าทัน แล้วก็อย่าไปเพิ่มอะไรกับมัน 

ละออก ถอนออก ...ทำหมันมันซะบ้าง อย่าไปขยาย เจริญพันธุ์มากกับความคิด  อดีตอนาคตน่ะคือความก่อเกิด อยู่ในวัยเจริญพันธุ์  ถ้าไม่มีปัญญามันจะเจริญพันธุ์แตกหน่อยาวเลย ...ทำหมันมันซะบ้าง จนมันเป็นหมันน่ะ จนมันหยุด จนมันอยู่ จนมันไม่แตกเชื้อ จนไม่แตกออกมาเป็นทายาทเหล่ากอออกมาอีก

มันจะอยู่ในที่อันเดียว แค่รู้เฉยๆ นั่นน่ะคือที่เกิดขึ้นจุดแรก...แล้วก็เป็นที่สุดท้ายที่มันจบ มันมีอยู่แค่นั้นจริงๆ  ...ไอ้นอกนั้นน่ะอย่าไปเชื่อ อย่าไปให้ความสำคัญกับมัน  ใครว่าดีก็ปล่อยเขาว่าไป ใครเขาว่าผิดก็ปล่อยเขาว่าไป ใครเขาว่าถูกก็ปล่อยเขาว่าไป เรื่องของเขา  เราก็รู้ของเราอยู่ตรงนี้ รู้อยู่ตรงนี้ๆ รู้อยู่ปัจจุบัน

ถ้าไม่รู้ว่าปัจจุบันอยู่ตรงไหน ก็ตบหน้าตัวเองซะหนึ่งที จะได้รู้ตัว (หัวเราะกัน) ว่านี่...กายอยู่ตรงนี้ นั่นน่ะปัจจุบัน  ไม่ต้องไปคิดถึงอะไรมาก แค่พยายามกลับมาอยู่ตรงนี้ ธรรมมีอยู่แค่นี้เอง รวมลงในปัจจุบันกาย ปัจจุบันจิต

นอกนั้นไปนี่เพ้อ ละเมอ เป็นจิตเพ้อเจ้อ สังขารจิต สังขารธรรม แค่นั้นเอง ไม่ใช่สาระอะไร ...แม้แต่ปัจจุบันที่เรารู้สึกขณะนี้ มันก็ละ ดับลงในปัจจุบัน เดี๋ยวก็เปลี่ยนใหม่ไป

ยืนอยู่ในหลักนี้เท่านั้นแหละ จนถึงที่สุด ตั้งแต่ต้นจนจบเป็นพระอรหันต์ก็อยู่ตรงนี้ที่เดียว ไม่ได้ออกนอกนี้เลย ไม่ได้ออกไกลจากนี้เลย  มีแต่สั้นลงมา กลับมาเหลือแค่ทีเดียว กายอันเดียว จิตอันเดียว ไม่ใช่กายหลายกาย จิตหลายจิต

ตอนนี้มันไม่รู้กี่กายแล้วนี่ กายในอดีต กายในอนาคต กายในข้างหน้านู้นไกลๆ  จิตก็หลายดวงเหลือเกิน เดี๋ยวก็โทสะ โมหะ โลภะ เยอะแยะวนไปหมด  มันไม่เป็นกายเดียวจิตเดียว ...ถ้าเป็นอยู่ในปัจจุบันนี่มีแค่กายเดียวจิตเดียว มันเหลือแค่กายเดียวที่เป็นสักแต่ว่ากาย จิตเดียวเป็นสักแต่ว่ารู้เฉยๆ อย่างนั้นแหละ คือจิตของพระอริยะ

จบ พอแล้ว 

โยม –  เจ้าค่ะ  

พระอาจารย์ – นี่ ได้ฟังไว้ ก็อย่าไปจำ เอาความเข้าใจ ... เข้าใจแล้วไม่ต้องจำแล้ว ก็อยู่ด้วยความเข้าใจ แล้วก็รู้ทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏด้วยความอดทน อย่าใจร้อน    

โยม –  เจ้าค่ะ   


..............................